Test Embed Page made with 10.4.7 generator and 10.0.8 embed wrapper
Click here for a list of include paths
Click here for a test page with no right hand side
การมอบอำนาจให้ผู้ผลิตได้อย่างรวดเร็วเข้าถึงซอฟต์แวร์ที่มีอิทธิพลอย่างใดอินเดียเพิ่มโอกาสระดับโลกในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยโดยเริ่มให้ Forex การพิจารณาปีสาธารณะในการสร้างสำนักงานข้อความสถานะเรื่อง
ข้อมูลที่เป็นมิตรกับชีวิตมุมมองการสนทนาโครงสร้างตลาด ฯลฯ เป้าหมายหลักคือเป้าหมายเดียวกันคำแนะนำในการซื้อนั้นได้รับการแจ้งแล้วตอนนี้หัวข้อความคิดเห็นภาษาอังกฤษไม่ได้บรรยายจริง ๆ Jaane Dishame World Hardware กลุ่มทำงานปรึกษาหารือแม่มดที่จำเป็น แต่
บีบีซีเผยรายชื่อ100 สตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลจากทั่วโลก ประจำปี 2023
ในจำนวนนี้มีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน อามัล คลูนีย์, ดาราฮอลลีวูด อเมริกา เฟอร์เรรา, ต้นแบบนักสตรีนิยม กลอเรีย สไตเนม, อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ มิเชล โอบามา, ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ ทิมนิต เกบรู, เจ้าของธุรกิจความงาม ฮิวดา คัตตัน, และนักฟุตบอลหญิงผู้พิชิตรางวัลบัลลงดอร์ ไอตานา บอนมาติ
ตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา เหตุการณ์รุนแรงอย่างคลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม และภัยธรรมชาติอื่น ๆ ปรากฏเป็นข่าวในสื่อช่องทางต่าง ๆ บ่อยครั้ง ทำให้รายชื่อของผู้ได้รับคัดเลือกในปีนี้ มุ่งเน้นไปที่สตรีผู้ทำงานช่วยเหลือชุมชนให้สามารถแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเตรียมการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบของมันได้
ในบรรดาสตรีผู้ได้รับคัดเลือก 100 คน บีบีซีได้เสนอชื่อผู้ริเริ่มบุกเบิกโครงการด้านภูมิอากาศ 28 คน ก่อนที่การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 จะเริ่มขึ้นที่นครดูไบในเดือนธันวาคมนี้
ลำดับรายชื่อถูกจัดเรียงแบบสุ่ม
วัฒนธรรมและการศึกษา
มัจฉา พรอินทร์ , ไทย
นักรณรงค์เพื่อสิทธิ์ชนกลุ่มน้อยและผู้มีความหลากหลายทางเพศ
มัจฉา อาศัยในประเทศไทยบริเวณชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้ง งานของมัจฉาจึงเน้นหนักไปทางด้านสิทธิของคนกลุ่มน้อย
มัจฉาก่อตั้งองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนขึ้น เพื่อให้การศึกษาและเสริมพลังแก่บุคคลไร้สัญชาติและผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่ไร้ที่ดินทำกิน เด็กผู้หญิง และกลุ่มเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ในฐานะที่เป็นเฟมินิสต์ (สตรีนิยม) ที่เป็นเลสเบียน และเป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย มัจฉา มีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวเพื่อยุติความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศในภูมิภาค ขณะเดียวกันเธอก็ทำงานปกป้องสิทธิเรื่องที่ดินทำกินและความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อกลุ่มคนที่ถูกพลัดพรากจากถิ่นฐานและกลุ่มคนที่ถูกตัดสิทธิ
"การแก้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เสียงจากชุมชนพื้นเมือง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิงและเด็กสาว"
มัจฉา พรอินทร์
เครา เชอร์วูด-โอเรกอน , นิวซีแลนด์
นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพื้นเมืองและคนพิการ
เครา เชอร์วูด-โอเรกอน เป็นชาวไค ตาฮู (Kai Tahu) ชนเผ่าพื้นเมืองในนิวซีแลนด์ เป็นผู้พิการ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ เธอมีพื้นเพมาจากเมืองเท ไวปูนามู (Te Waipounamu) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะใต้ของนิวซีแลนด์
เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง องค์กรที่ชื่อว่า แอคทิเวท ซึ่งทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผลกระทบเชิงสังคม ด้วยการขับเคลื่อนความยุติธรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เชอร์วูด-โอเรกอน ใช้วิธีการของชนเผ่าเมารีและบรรพบุรุษในการอนุรักษ์ดิน ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นวิธีที่ถูกเพิกเฉยจากสายอนุรักษ์สภาพภูมิอากาศกระแสหลัก
นอกจากนี้เธอยังสานเครือข่ายด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อเน้นย้ำผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อชุมชนของเธอ ขณะเดียวกันก็ผลักดันสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งสิทธิของคนพิการ ให้เข้าไปอยู่ในการต่อรองเจรจาในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศด้วย
"พวกเราปฏิเสธวิธีการของนักเคลื่อนไหว เราเริ่มทำในพื้นที่ของเรา เรานำกันเองในชุมชน แล้วมันก็ได้ผล ฉันคิดว่าหลายคนคงรู้ในตอนนี้แล้วว่า การให้อธิปไตยแก่ชนพื้นเมืองคือทางออกจากวิกฤตด้านภูมิอากาศ"
เครา เชอร์วูด-โอเรกอน
ซูซาน เอตติ , ออสเตรเลีย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ซูซาน เอตติ เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศเพียงหนึ่งเดียวที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว และเป็นผู้ที่มีความหลงใหลในการนำพาให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมุ่งไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับอนาคต
เอตติ เป็นผู้จัดการฝ่ายผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่บริษัท อินเตอร์พิด ทราเวล (Intrepid Travel) บริษัทท่องเที่ยวแนวผจญภัยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในออสเตรเลีย ซึ่งเอตติ เป็นผู้ที่ปลุกปั้นให้อินเตอร์พิด ทราเวล เป็นบริษัททัวร์แห่งแรกที่ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว โดยนำเป้าหมายเรื่องการลดปริมาณคาร์บอนมาใช้กำกับอย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์
เอตติ ยังได้นำหลักปฏิบัติธุรกิจท่องเที่ยวที่เธอลงมือทำเปิดเป็นโอเพน-ซอร์ส ให้บริษัทท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ต้องการลดคาร์บอนนำไปปรับใช้ ซึ่งแนวปฏิบัตินี้เป็นส่วนสำคัญของ "คำประกาศการท่องเที่ยว" (Tourism Declares) ที่องค์กรและธุรกิจด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวกว่า 400 แห่ง ร่วมลงนามร่วมกันในคำประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ
"วันนี้เราเห็นธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่มองเห็นความสำคัญของการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพอากาศ ด้วยการตั้งเป้าหมายอันทะเยอทะยานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว"
ซูซาน เอตติ
อราตี กุมาร-ราว, อินเดีย
ช่างภาพ
อราตี กุมาร-ราว เป็นช่างภาพอิสระ นักเขียน และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ซึ่งทำงานในพื้นที่เอเชียใต้ เธอบันทึกภาพภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เธอบันทึกเหตุการณ์ว่าการลดลงของน้ำบาดาล การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย และการได้มาซึ่งที่ดินในภาคอุตสาหกรรม ได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และลดขนาดพื้นที่ที่ใช้สอยร่วมกันไปมากแค่ไหน และทำให้สิ่งมีชีวิตนับล้านต้องพลัดถิ่น กลายพันธุ์ และนำไปสู่การสูญพันธุ์อย่างไร
กุมาร-ราวได้เดินทางข้ามอนุทวีปอินเดียโดยใช้เวลานานกว่าทศวรรษ เรื่องราวของเธอที่สร้างความสะเทือนใจคือ การเปิดเผยว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร
หนังสือของเธอ Marginlands หรือ ภูมิทัศน์ของอินเดียบนขอบเหว สรุปประสบการณ์ของผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรที่สุดของอินเดีย
ต้นตอของวิกฤตสภาพภูมิอากาศคือการสูญเสียความเชื่อมโยงทางองค์ประกอบดิน น้ำ และอากาศ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องคืนความเชื่อมโยงของสิ่งเหล่านี้
อราตี กุมาร-ราว
ฮิวดา คัตตัน, สหรัฐฯ
ผู้ก่อตั้งธุรกิจความงาม
ฮิวดา คัตตัน เกิดในสหรัฐฯ พ่อแม่ของเธอเป็นผู้อพยพชาวอิรัก เธอเติบโตในรัฐโอคลาโฮมา และรังเกียจงานบริษัทแบบเดิม ๆ จึงไล่ตามความฝันในแวดวงความงาม
คัตตัน เข้าศึกษาในโรงเรียนสอนการเสริมความงามชั้นนำในนครลอสแองเจลิส ต่อมาก็ได้สร้างฐานลูกค้าที่ล้วนเป็นคนดังระดับ "เอลิสต์" (A-List) รวมถึงสมาชิกในราชวงศ์ทั่วตะวันออกกลาง
ปัจจุบัน เธอมีผู้ติดตามแบรนด์เสริมความงามของเธอบนอินสตาแกรมมากกว่า 50 ล้านคน
คัตตัน ก่อตั้งแบรนด์เครื่องสำอาง ชื่อ "ฮิวดา บิวตี" เมื่อปี 2013 เริ่มจากผลิตภัณฑ์ขนตาปลอม ทุกวันนี้ ได้กลายเป็นธุรกิจระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 140 ประเภท และจำหน่ายในร้านค้า 1,500 แห่งทั่วโลก
วี คาทีวู, ซิมบับเว / สหราชอาณาจักร
คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และยูทูบเบอร์
แม้จะต้องเรียนไปด้วยและทำงานไม่เต็มเวลาที่ร้านแม็กโดนัลด์ไปด้วย แต่ วี วาไรด์โซ คาทีวู ก็สามารถสำเร็จการศึกษาจากสองมหาวิทยาลัยดังของโลกทั้งอ็อกซ์ฟอร์ดและฮาร์วาร์ดได้ เส้นทางชีวิตของเธอเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมากทั่วโลก
สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ คาทีวูเปิดช่องยูทิวบ์ของตนเอง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยดัง ผู้มีภูมิหลังทางสังคม-เศรษฐกิจ มาจากชนชั้นระดับล่าง โดยเธอเผยเคล็ดลับในการเรียนและการแสวงหาทรัพยากรสนับสนุนต่าง ๆ ทางการศึกษา แก่คนที่มีภูมิหลังเหมือนกับเธอ
คาทีวูยังเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ "เสริมพลังด้วยวี" (Empowered by Vee) ซึ่งเป็นช่องทางที่เธอช่วยให้นักเรียนนักศึกษาผู้ขาดการสนับสนุนหรือผู้ด้อยโอกาส สามารถจะเข้าถึงการศึกษาระดับสูงกันได้มากขึ้น
เธอยังเขียนหนังสือแนะแนวทางแก้ปัญหาชีวิตด้วยตนเองที่ปฏิบัติได้จริงสำหรับคนหนุ่มสาว ปัจจุบันเธอกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขาการเป็นผู้นำทางการศึกษา
โซเฟีย คิอานี, สหรัฐอเมริกา
นักศึกษา และผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม
หลังจากพูดคุยกับญาติในอิหร่าน โซเฟีย คิอานี ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม พบว่ามีข้อมูลที่เชื่อถือได้ค่อนข้างน้อยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาษาของพวกเขา ดังนั้นเธอจึงเริ่มแปลเนื้อหาเป็นภาษาฟาร์ซี
จากนั้นไม่นาน สิ่งนี้ได้ขยายไปสู่โครงการที่กว้างขึ้นเมื่อเธอก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร Climate Cardinals ที่นำโดยเยาวชนระดับนานาชาติ มีเป้าหมายในการแปลข้อมูลสภาพภูมิอากาศเป็นภาษาต่าง ๆ และทำให้ผู้ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเข้าถึงได้มากขึ้น
ปัจจุบันมีนักศึกษาอาสาสมัคร 10,000 คนใน 80 ประเทศ พวกเขาได้แปลเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพอากาศจำนวน 1 ล้านคำเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 100 ภาษา
เป้าหมายของคิอานีคือ การช่วยทำลายกำแพงภาษาเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตรืไปทั่วโลก
นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ได้สร้างและดูแลเครือข่ายการดำเนินการด้านสภาพอากาศทั่วโลก ระดมผู้คนนับล้านเพื่อประท้วงต่อต้านการพัฒนาเชื้อเพลิงจากถ่านหิน และระดมเงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายของโลกนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะแยกตัวเองตามอายุหรือประสบการณ์
โซเฟีย คิอานี
พอลีนา จิเซียเน, โมซัมบิก
นักเขียน
เธอคือผู้หญิงคนแรกของประเทศโมซัมบิก ที่ได้มีผลงานนวนิยายตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยพอลีนา จิเซียเน เปิดตัวนวนิยายเรื่องแรก "เพลงแห่งรักในสายลม" เมื่อช่วงทศวรรษ 1990
เธอเติบโตในย่านชานเมืองมาปูโต นครหลวงของโมซัมบิก โดยเรียนภาษาโปรตุเกสที่โรงเรียนของนิกายคาทอลิกแห่งหนึ่ง ต่อมาเธอได้เข้าเรียนด้านภาษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเอดูอาร์โด มอนด์ลาเน แต่ไม่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
ผลงานของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน และสเปน และได้รับรางวัล "โฮเซ คราเวรินญา" ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสำหรับนักเขียนชาวโมซัมบิก จากผลงานนวนิยายเรื่อง "เมียหลวง: เรื่องเล่าของชีวิตสมรสหลายผัวหลายเมีย
ล่าสุดเธอยังพิชิตรางวัล Camões Prize ซึ่งเป็นการยกย่องสูงสุดสำหรับนักเขียนในโลกวรรณกรรมภาษาโปรตุเกส
ชาอีร์บู ซากินบาเอวา, สาธารณรัฐคีร์กีซ
ผู้ร่วมก่อตั้งร้านอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย "เพื่อชีวิต"
หลังต้องเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยหนักนานถึง 3 ปี เพราะโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ซ้ำยังต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาจ่ายค่ายาแสนแพง แต่ปัจจุบันโรคร้ายของชาอีร์บู ซากินบาเอวา มีอาการสงบลงแล้ว
เธอร่วมกับผู้ป่วยอีก 4 คน ที่มีอาการของโรคมะเร็งสงบลงแล้วเช่นกัน ก่อตั้งร้านอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย "เพื่อชีวิต" (For Life) เพื่อผลิตและจำหน่ายกระเป๋าที่ประดับตกแต่งด้วยของพื้นเมืองของชาวคีร์กีซ โดยกำไรที่ได้จะบริจาคเพื่อช่วยสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ปัจจุบันพวกเธอระดมทุนได้ถึง 33,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1,200,000 บาท เพื่อมอบให้เป็นเงินสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยมะเร็งสตรี 34 ราย
นอกจากนี้ ซากินบาเอวายังเล็งเห็นถึงความยากลำบากของผู้ป่วยหลายคน ที่ต้องเดินทางมาไกลกว่าจะถึงศูนย์การแพทย์ เธอจึงช่วยก่อตั้งสถานที่พักค้างแรมแบบไม่แสวงผลกำไร ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานพยาบาลและทุกคนสามารถเข้าพักได้ขึ้นมาด้วย
ออกซานา ซาบุซโก, ยูเครน
นักเขียน
เธอคือเจ้าของงานเขียนกว่า 20 ชิ้น ซึ่งมีทั้งเรื่องแต่ง บทกวี และบทความสารคดีคุณภาพ ซึ่งทำให้ถือได้ว่า ออกซานา ซาบุซโก คือนักเขียนและปัญญาชนคนสำคัญผู้หนึ่งของยูเครน
ผลงานของเธอซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ ได้แก่ "งานภาคสนามว่าด้วยเรื่องเพศของยูเครน" และ "พิพิธภัณฑ์แห่งความลับที่ถูกทิ้งขว้าง"
เธอสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาปรัชญาของมหาวิทยาลัยเชฟเชงโกแห่งกรุงเคียฟ ทั้งยังมีคุณวุฒิปริญญาเอกในสาขาปรัชญาศิลปะด้วย
หนังสือของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 20 ภาษา ทั้งยังได้รับรางวัลในระดับชาติและระดับนานาชาติมากมาย เช่นรางวัล "แอนเจลัส" สำหรับวรรณกรรมในภูมิภาคยุโรปกลาง, รางวัลระดับชาติสำหรับผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม Shevchenko National Prize ของยูเครน, และเครื่องอิสริยาภรณ์ The Legion of Honor ของฝรั่งเศส
อีซี บัวบาซา, กานา
แม่ค้าขายปลา
อีซี บัวบาซา เป็นชนพื้นเมืองเฟอฟมี (Fuveme) หมู่บ้านชาวกานาที่ถูกคลื่นซัดหายไปกลางทะเล และมีประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ที่ดินของเธอไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกไป เธอ สามี และลูก ๆ 5 คนจึงถูกบังคับให้อพยพออกมา
บัวบาซานำแม่ค้าขายปลาในหมู่บ้านร่วมกันจัดตั้งสมาคมช่วยเหลือชาวประมงหญิงในภูมิภาค จากการที่พวกเธอมีรายได้หดหาย เพราะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ขณะนี้มีสมาชิกราว 100 คน ซึ่งมาประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อหารือปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงในธุรกิจนี้ และบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องการ
เราสิ้นหวังทุกครั้งที่คลื่นซัดเข้ามา ความตายมาเยือนเราและคนรุ่นต่อไป
อีซี บัวบาซา
ลาลา ปาสกีเนลลี, อาร์เจนตินา
ศิลปิน
โครงการ "ผู้หญิงไม่ขึ้นปก" เป็นผลงานความริเริ่มของศิลปินสาว ลาลา ปาสกีเนลลี โดยได้เริ่มดำเนินการในปี 2015 เพื่อตั้งคำถามต่อมาตรฐานความงามแบบพิมพ์นิยม รวมทั้งการนำเสนอภาพลักษณ์ของสตรีในสื่อและวัฒนธรรมประชานิยมด้วย
โครงการนี้อยู่เบื้องหลังกระแสไวรัล ที่เชิญชวนให้ผู้หญิงพิจารณาทบทวนถ้อยคำและเรื่องเล่าต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างกายของพวกเธอ ซึ่งรวมถึงประเด็นอย่างความเสื่อมถอยตามวัยและการลดความอ้วน โดยกระแสการรณรงค์ล่าสุดคือ #HermanaSoltaLaPanza หรือ "พี่สาวน้องสาวทั้งหลาย จงหยุดแขม่วพุง" ได้เรียกร้องให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องจริงของร่างกาย ซึ่งคนทั่วไปมีรูปร่างและขนาดที่หลากหลาย
ปาสกีเนลลีเป็นทั้งทนายความ กวี นักกิจกรรมสตรีนิยม และหญิงรักหญิงหรือเลสเบียน เธอมุ่งทำงานเพื่อรื้อถอนอุดมคติด้านความงามของสตรีที่มีเพียงมาตรฐานเดียว ซึ่งเธอวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแนวคิด "เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และเหยียดชนชั้น" ซึ่งส่งผลให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศรุนแรงยิ่งขึ้น
เจ็ตซุนมา เท็นซิน พัลโม, อินเดีย
ภิกษุณีในพุทธศาสนา
เจ็ตซุนมา เท็นซิน พัลโม เกิดที่อังกฤษในช่วงทศวรรษ 1940 และหันมานับถือศาสนาพุทธในช่วงวัยรุ่น
เมื่อมีอายุได้ 20 ปี ท่านเดินทางไปประเทศอินเดีย และได้เป็นหนึ่งในชาวตะวันตกคนแรก ๆ ที่ได้บวชในพุทธศาสนานิกายวัชรยานของทิเบต
เพื่อยกย่องส่งเสริมสถานะของนักบวชหญิงในพุทธศาสนา ท่านก่อตั้งสำนักสามเณรี "ดองจู กัตซัล ลิง" ที่รัฐหิมาจัลประเทศของอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีสามเณรีอยู่ถึง 120 รูป
เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านเคยถือสันโดษ โดยปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำที่ห่างไกลบนเทือกเขาหิมาลัยนานถึง 12 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นมีการเข้าสมาบัติโดยตัดขาดจากโลกภายนอกนานถึง 3 ปี จนเมื่อปี 2008 ท่านจึงได้รับการถวายสมณฉายา "เจ็ตซุนมา" ซึ่งหมายถึง "พระอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพสักการะ" อันเป็นการยกย่องที่หาได้ยาก
กาโรลีนา ดิแอซ พิเมนเทล, เปรู
ผู้สื่อข่าว
ตอนที่เธอได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะออทิสติก ในขณะที่อายุเฉียดเข้าใกล้ 30 ปี กาโรลีนา ดิแอซ พิเมนเทล อบเค้กให้ตัวเองหนึ่งก้อน เพื่อฉลองในโอกาสที่ในที่สุด เธอก็ได้รู้ว่าตนเองเป็นผู้มีความแตกต่างทางระบบประสาทเสียที
ขณะนี้เธออยู่ในวัยกว่า 30 ปี และรู้สึก "ภาคภูมิใจในความเป็นออทิสติก" โดยเธอเป็นผู้สื่อข่าวที่เชี่ยวชาญพิเศษในการรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพจิตและความแตกต่างทางระบบประสาท
ดิแอซยังทำงานเพื่อยุติการตีตราผู้มีความบกพร่องทางจิตสังคม (psychosocial disability) โดยเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรและโครงการจำนวนมาก ซึ่งมุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความแตกต่างทางระบบประสาท อย่างเช่น "มากกว่าไบโพลาร์" (Mas Que Bipolar), "แนวร่วมผู้มีความแตกต่างทางระบบประสาทแห่งเปรู", และ "โครงการไม่ปกติ" (Proyecto Atipico)
เธอได้รับทุนวิจัยจากศูนย์พูลิตเซอร์ และยังเป็นนักวิชาการผู้ได้รับทุนโรซาลีน คาร์เตอร์ เพื่อการวิจัยด้านสุขภาพจิตอีกด้วย
ซาการิกา ศรีราม, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นักการศึกษาและที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ
ซาการิกา ศรีราม สาวนักต่อสู้เพื่อให้การศึกษาเรื่องสภาพภูมิอากาศเป็นแกนหลักในโรงเรียน
เธอใช้ทักษะการเขียนโค้ดเพื่อสร้าง Kids4abetterworld แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ทั่วโลก และสนับสนุนพวกเขาในโครงการเพื่อความยั่งยืนในชุมชน
เธอจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยสอนเด็ก ๆ ว่าพวกเขาสามารถสร้างสิ่งดี ๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร
นอกจากการเรียนหลักสูตรพื้นฐานในดูไบ ศรีรามยังเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ปรึกษาด้านเยาวชนของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเธอเป็นผู้สนับสนุนด้านสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม
นี่ไม่ใช่เวลาของการเตือน แต่คือเวลาของการลงมือทำ ดังนั้นเด็กแต่ละคนควรเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เราจำเป็นต้องเห็นในโลกของเรา
ซาการิกา ศรีราม
ซาราห์ ออตต์, สหรัฐอเมริกา
อาจารย์สอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
เติบโตในสหรัฐอเมริกาในรัฐฟลอริดาหลังจากเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. อาจารย์สอนโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นอย่างซาราห์ ออตต์ ยอมรับว่า เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางต่อข้อมูลข่าวสารเท็จ
แม้ว่าได้รับการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์มาแล้ว บางครั้งเธอก็รู้สึกสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดขึ้นจริง ๆ หรือไม่
การยอมรับว่าตัวเองเข้าใจผิดคือก้าวแรกของเธอในการค้นหาความจริง ตลอดเส้นทางการแสวงหาความเป็นจริงนี้ ทำให้เธอได้กลายเป็นทูตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ปัจจุบัน เธออาศัยอยู่ที่รัฐจอร์เจีย เธอใช้หัวข้อการเปลี่ยนแแปลงภูมิอากาศในการสอนแนวความคิดด้านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ให้กับนักเรียนของเธอ ในขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนที่เธออาศัยอยู่ด้วย
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน แต่ก็ใช่เพียงพวกเราจะไม่สามารถทำมันได้ด้วยตัวเอง การขับเคลื่อนก็เหมือนกับการทำสวน ต้องเข้าใจฤดูกาล ต้องการเวลาพักผ่อน ดังนั้นจงเข้าใจสถานการณ์ที่คุณกำลังเผชิญ
ซาราห์ ออตต์
โฮไซ อาห์มัดไซ, อัฟกานิสถาน
ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์
เมื่อกลุ่มตาลีบันขึ้นครองอำนาจเหนืออัฟกานิสถานอีกครั้ง ในเดือน ส.ค. ปี 2021 โฮไซ อาห์มัดไซ เป็นหนึ่งในผู้ประกาศข่าวหญิงของประเทศไม่กี่คน ที่ยังคงทำหน้าที่โดยออกอากาศต่อไป
เธอยังคงทำงานที่ชัมชาดทีวีต่อ แม้สถานการณ์จะทำให้น่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเธอ โดยมีกระแสต่อต้านในสังคมบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้หญิงปรากฏตัวในสื่อ
นับแต่นั้นเป็นต้นมา เธอมีโอกาสได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของตาลีบันหลายครั้ง แต่ก็ถูกจำกัดเรื่องการตั้งคำถาม ทั้งยังไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การกระทำใด ๆ ของพวกเขาได้
อาห์มัดไซมีภูมิหลังทางการศึกษาด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ เธอทำงานในวงการสื่อสารมวลชนมา 7 ปี โดยมุ่งเน้นรายงานเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กหญิง ซึ่งถูกจำกัดอย่างมากภายใต้การปกครองของตาลีบัน
อาโฟรเซ-นูมา, ปากีสถาน
หญิงเลี้ยงแกะ
อาโฟรเซ-นูมา เป็นหนึ่งในหญิงเลี้ยงแกะคนสุดท้ายของชาววาคีในปากีสถาน เธอดูแลแพะ จามรี และแกะ มานานเกือบ 30 ปีแล้ว
เธอได้ฝึกวิชาชีพนี้มาจากแม่และคุณย่าของเธอ ในวันที่หญิงเลี้ยงแกะ ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดยาวนานหลายศตวรรษกำลังสูญหายไปในแถบเทือกเขาชิมชัยในปากีสถาน
ทุกปี หญิงเลี้ยงแกะเหล่านี้ จะพาฝูงปศุสัตว์ไปยังทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ความสูง 4,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งพวกเขาจะเตรียมผลิตภัณฑ์นม ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนสินค้า ในช่วงที่สัตว์กำลังกินหญ้า
รายได้ของพวกเขานี่เอง ที่ช่วยนำความมั่งคั่งมาสู่หมู่บ้าน ช่วยให้ลูก ๆ ของพวกเขาได้เข้าถึงการศึกษา ปัจจุบัน อาโฟรเซ-นูมา ยังเป็นที่จดจำในฐานะหญิงคนแรกบนหุบเขาที่มีรองเท้าใส่
นาตาเลีย อิดริโซวา, ทาจิกิสถาน
ที่ปรึกษาด้านพลังงานสีเขียว
สตรีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในทาจิกิสถานมักดิ้นรนในการเข้าถึงแหล่งพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า หรือ ฟืน สำหรับนาตาเลีย อิดริโซวา ในฐานะผู้ประสานงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ต้องการแก้ไขวิกฤตพลังงานด้วยสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการทางสิ่งแวดล้อมที่ปฏิบัติได้จริง รวมทั้งการให้การศึกษาแก่ผู้หญิงเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ, เทคโนโลยีและวัสดุประหยัดพลังงาน
นอกจากให้การฝึกอบรม องค์กรของนาตาเลียยังสนับสนุนเครื่องมือประหยัดพลังงาน, ครัวพลังงานแสงอาทิตย์และหม้ออัดแรงดัน, เปิดโอกาสให้กับกลุ่มสตรีและสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศภายในบ้าน ในแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน อดริโซวา กำลังฝึกอบรมแก่ชุมชนต่าง ๆ ในเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนพิการ รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขาได้ที่รับการถกเถียงกันทางการเมือง
เหตุการณ์ผิดปกติที่สุดทั่วโลกเป็นสัญญาณเตือนครั้งสุดท้ายว่า มนุษย์ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากธรรมชาติ เราจึงไม่ควรละเลยและหาผลประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่สนใจผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น
นาตาเลีย อิดริโซวา
คลารา เอลิซาเบธ ฟราโกโซ อูการ์เต, เม็กซิโก
คนขับรถบรรทุก
คลารา เอลิซาเบธ ฟราโกโซ คนขับรถบรรทุก ได้อุทิศชีวิต 17 ปีของเธอ เพื่อต่อสู้กับอุตสาหกรรมที่ชายเป็นใหญ่ ด้วยการขับรถบรรทุกตัดผ่านเม็กซิโก ตามถนนหนทางหลายแห่งที่เรียกได้ว่าอันตรายที่สุดของประเทศ
เดิม เธอมาจากรัฐดูรังโก ก่อนจะแต่งงานด้วยวัย 17 ปี และมีลูก 4 คน เธอยังเป็นคุณยายของหลานอีก 7 คน
ในฐานะคนขับรถบรรทุกหญิง หรือ "เทรลเลรา" เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนท้องถนน เพื่อขนส่งสินค้าระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ
เธอยังช่วยฝึกสอนคนขับรถบรรทุกรุ่นใหม่ และมุ่งมั่นจะสร้างแรงบันดาลใจต่อผู้หญิงคนอื่น ๆ ให้เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศในวงการรถบรรทุกสินค้า
ไชลา กุมารี เบอร์แมน, สหราชอาณาจักร
ศิลปิน
ไชลา กุมารี เบอร์แมน ทำงานศิลปะแขนงต่าง ๆ รวมถึงภาพพิมพ์ การวาดภาพ จิตรกรรม ศิลปะจัดวาง และภาพยนตร์ และใช้ผลงานสร้างข้อถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเป็นตัวแทน เพศ และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
ในปีนี้ ศิลปินได้เห็นผลงานของเธอที่ Blackpool Illuminations เทศกาลแสงไฟที่จัดขึ้นในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 1879 Lollies in Love With Light เป็นงานศิลปะจัดวางที่ใช้เทคนิคสี โดยมีรถตู้ขายไอศกรีมอยู่ตรงกลาง ได้รับรับแรงบันดาลใจจากธุรกิจขายไอศครีมของพ่อแม่ของเธอ
ในปี 2020 เบอร์แมนได้สร้างผลงานศิลปะจัดวาง Remembering a Brave New World ซึ่งประดับตกแต่งด้านหน้าอาคาร Tate Britain โดยอ้างถึงเทพนิยายอินเดีย วัฒนธรรมสมัยนิยม และการเพิ่มอำนาจให้ผู้หญิง
เธอได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ MBE เมื่อปี 2022
เจสส์ เปปเปอร์, สกอตแลนด์
ผู้ก่อตั้ง Climate Café
Climate Café เป็นพื้นที่เน้นความเป็นชุมชนสำหรับให้ผู้คนมาร่วมสังสรร, สนทนา และมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ก่อตั้งครั้งแรกในปี 2015 โดย เจสส์ เปปเปอร์ ที่เมืองเล็ก ๆ ในสกอตแลนด์
ปัจจุบัน เธอสนับสนุนให้ชุมชนต่าง ๆ สร้างพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายระดับโลก
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบอกว่า นี่คือพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถแลกเปลี่ยนความกังวลและความกลัวเกี่ยวกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ
เปปเปอร์ดำรงตำแหน่งผู้นำในหลายองค์กรในแวดวงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เช่น นักวิชาการเกียรติคุณของราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสกอตแลนด์ และนักวิชาการของราชสมาคมศิลปะแห่งสกอตแลนด์
การดำเนินการด้านภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกำลังเกิดขึ้นในสังคม บ่อยครั้งนำโดยกลุ่มสตรีและเด็ก การได้เห็นการสร้างความเชื่อมสัมพันธ์กันของคนในสังคม นั่นคือ การสร้างแรงบันดาลใจและการบอกกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลง การสร้างทักษะความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอนได้ ในเวลาเดียวกันยังสามารถสร้างโอกาสและพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่มอบความหวังให้แก่ฉัน
เจสส์ เปปเปอร์
หลุยส์ มาบูโล, ฟิลิปปินส์
ชาวนาและผู้ประกอบการ
ในปี 2016 ไต้ฝุ่นนกเตนพัดถล่มบางส่วนของจังหวัดคามารีเรสซูร์ (Camarines Sur) ในฟิลิปปินส์ และทำลายพื้นที่ทางการเกษตรไปกว่า 80%
หลุยส์ มาบูโล ยืนหยัดต่อสู้กับความเสียหายครั้งนั้นด้วยการต่อตั้งโครงการที่ชื่อ คาเคา (Cacao Project) หลังเหตุพายุถล่มผ่านไป องค์กรดังกล่าวมุ่งที่จะปฏิวัติระบบอาหารท้องถิ่นด้วยการใช้นวเกษตร
มาบูโลเสริมพลังให้กับชาวนา ถอดรื้อระบบอาหารที่พิกลพิการ และเชิดชูเศรษฐกิจสีเขียวที่นำโดยพื้นที่ชนบท เขาทำให้เกษตรกรที่ลงมือเพาะปลูกด้วยตนเองกลับมา่ควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้เองอีกครั้ง
เธอให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายภูมิอากาศในระดับนานาชาติ และทำให้เรื่องราวและความรู้ที่มาจากชนบทเป็นที่รับรู้มากขึ้น โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติมอบรางวัล Young Chiampion of the Earth ให้เธอด้วย
ฉันมีความหวังที่ได้รู้ว่าการเคลื่อนไหวทั่วโลกถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนที่เหมือนกับฉัน สร้างอนาคตด้วยพื้นที่สีเขียวซึ่งเชื่อมโยงชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อนาคตที่การผลิตอาหารของเรานั้นยั่งยืนและเข้าถึงได้ง่าย อนาคตแห่งเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยหลักการที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
หลุยส์ มาบูโล
ดาเรีย เซเรนโก, รัสเซีย
กวี
เธอคือนักเขียนและนักรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานก่อตั้ง "แนวร่วมนักสตรีนิยมต้านสงคราม" ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย
ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เซเรนโกมีผลงานเขียนมากมายเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศในรัสเซีย เธอยังออกหนังสือความเรียงร้อยแก้วอีกสองเล่ม ว่าด้วยแนวคิดสตรีนิยมและการต่อต้านสงคราม
เธอยังเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์โครงการความริเริ่มทางศิลปะ Quiet Pickett โดยเธอมักจะสวมป้ายห้อยคอที่มีข้อความเชิญชวนให้ผู้คนร่วมอภิปรายถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ
สองสัปดาห์ก่อนรัสเซียเริ่มยุทธการบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ เซเรนโกถูกทางการควบคุมตัว ด้วยข้อกล่าวหาว่าเธอเผยแพร่ข้อความของ "พวกหัวรุนแรงสุดโต่ง" หลังจากนั้นเมื่อเธอลี้ภัยไปยังประเทศจอร์เจียได้ไม่นาน ทางการรัสเซียยังกล่าวหาเพิ่มเติมว่าเธอเป็น "สายลับของต่างชาติ" อีกด้วย
ลิเชีย เฟร์ตซ์, อิตาลี
นางแบบและอินฟลูเอนเซอร์
คงมีคนชราวัย 93 ปี ไม่มากนัก ที่สามารถจะพูดอวดได้ว่ามีผู้ติดตามทางอินสตาแกรมกว่า 235,000 คน แต่สำหรับอินฟลูเอนเซอร์ผู้ส่งเสริมการมองรูปกายของตนเองในแง่ดี ซึ่งมีอายุมากที่สุดของอิตาลีแล้ว เธอบอกว่านั่นแค่เพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
ลิเชีย เฟร์ตซ์ เคยใช้ชีวิตผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และต้องทนทุกข์จากการที่ลูกสาววัย 28 ปี ตายจาก ส่วนสามีของเธอก็ลาโลกไปก่อนแล้ว
แต่เมื่อหลานชายของเธอเปิดบัญชีอินสตาแกรมให้ โดยหวังว่ามันจะทำให้เธอสดชื่นรื่นเริงขึ้น เธอก็เริ่มโพสต์ภาพขณะสวมชุดสีสันสดใสพร้อมทั้งเผยรอยยิ้มเบิกบาน ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นดาวเด่นทางสื่อสังคมออนไลน์ภายในชั่วข้ามคืน
ก่อนหน้านี้เธอเคยเขียนหนังสืออัตชีวประวัติ และถ่ายภาพเปลือยลงปกของนิตยสาร Rolling Stone มาแล้ว เมื่อตอนที่อายุ 89 ปี
เธอยังเป็นนักรณรงค์ต่อต้านการเหยียดอายุ รวมทั้งต่อสู้เพื่อแนวคิดสตรีนิยมและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เธอยังช่วยส่งเสริมการมองรูปกายของตนเองในแง่ดี รวมทั้งเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปที่มีต่อคนชราและร่างกายที่เสื่อมโทรมตามวัย
จานนาตุล เฟอร์ดัส, บังกลาเทศ
ผู้รอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้
หลังรอดชีวิตจากอุบัติเหตุที่ทำให้ร่างกายของเธอถูกเผาไหม้ถึง 60% จานนาตุล เฟอร์ดัส ได้ผันตัวมาเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ นักเขียน และนักรณรงค์ต่อสู้เพื่อผู้พิการ
เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งองค์กร "เสียงและทรรศนะ" (Voices & Views) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของหญิงผู้รอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้
ครอบครัวและเพื่อนฝูงเรียกเธอว่า "ไอวี่" เธอมีผลงานหนังสั้นมาแล้ว 5 เรื่อง และนวนิยายอีก 3 เรื่อง โดยใช้เรื่องเล่าของเธอสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความพิการ
เธอขยันศึกษาเล่าเรียนอย่างยิ่ง จนสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ รวมทั้งสำเร็จการศึกษาด้านพัฒนศาสตร์ด้วย
มาริเยตา โมยาเซวิช, มอนเตเนโกร
นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ
หลังรอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองถึง 2 ครั้ง ในสมัยที่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นเส้นทางชีวิตของมาริเยตา โมยาเซวิช ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เธอได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งหลายสิ่งยังคงส่งผลต่อเธอมาจนกระทั่งทุกวันนี้ โมยาเซวิชจึงหันมาทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนและนักรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิผู้พิการ
เธอส่งเสียงท้าทายทัศนคติและพฤติกรรมทางลบที่สังคมมีต่อผู้ป่วยโรคทางประสาท
โมยาเซวิชออกแบบการอบรมเวิร์กช็อป "การใช้ชีวิตกับผู้พิการ" ซึ่งนำประสบการณ์ของตัวเธอเองมาช่วยในการคัดค้านโต้แย้งอคติที่สังคมมีต่อพวกเขา
เธอยังเป็นทูตสันถวไมตรีของโครงการ OneNeurology ซึ่งเป็นความริเริ่มที่มีจุดมุ่งหมายจะรณรงค์ให้โรคและอาการทางประสาท ได้รับความสำคัญในอันดับต้นในนโยบายการสาธารณสุขของโลก
บันเทิงและกีฬา
แอน กรอลล์, ฝรั่งเศส
นักแสดงตลก
คลับของชาวเดี่ยวไมโครโฟนที่ชื่อ กรีนวอชชิง คอเมดี คลับ (Greenwashing Comedi Club) เป็นสถานที่รวมของเหล่านักแสดงตลก และมักพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ประเด็นสิทธิสตรี ความยากจน ผู้พิการ และสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
คลับแห่งนี้ก่อตั้งโดยนักแสดงตลก แอน กรอลล์ ผู้เชื่อว่ามุขตลกที่โดนใจสามารถจุดประกายความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของผู้คนได้ และอาจสามารถชักจูงให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้
ในสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความบันเทิง ซึ่งแนวคิดที่รวบรัดและข้อความสั้น ๆ มีอิทธิพลอย่างมาก กรอลล์เชื่อว่าอารมณ์ขัน ที่หลายครั้งสร้างขึ้นจากการขยายความให้เกินจริงและมุกตลก สามารถเป็นสื่อกลางชั้นดีในการเผยแพร่ไอเดียเกี่ยวกับโลกร้อน
ความสำเร็จของ กรีนวอชชิง คอเมดี คลับ เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะมันทำให้เห็นว่าทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพวกเขาก็อยากมารวมตัวกัน หัวเราะร่วมกัน และกลับบ้านไปพร้อมความรู้สึกพร้อมที่จะเดินหน้าต่อสู้
แอน กรอลล์
ฮาร์มานปรีต์ กอร์, อินเดีย
นักคริกเก็ต
ในปีนี้เธอได้เป็นหญิงอินเดียคนแรก ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นหนึ่งในห้าสุดยอดนักคริกเก็ตแห่งปี ของสารานุกรมคริกเก็ต Wisden
ฮาร์มานปรีต์ กอร์ คือกัปตันทีมชาติคริกเก็ตหญิงของอินเดีย เธอคือผู้ทำคะแนนหลักทั้งในการแข่งขันภายในประเทศและต่างประเทศ เมื่อปีที่แล้วเธอนำทีมอินเดียคว้าเหรียญเงิน ในการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ
ในส่วนของวงการคริกเก็ตหญิงในประเทศนั้น เธอนำทีม "มุมไบอินเดียนส์" คว้าชัยชนะในการแข่งขันพรีเมียร์ลีกหญิงครั้งแรกของประเทศ เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา
เหตุการณ์เด่นในเส้นทางอาชีพของเธอ เกิดขึ้นเมื่อปี 2017 โดยกอร์สามารถทำคะแนนได้ 171 รัน (runs) จากการตีลูกบอล 115 ครั้ง ในการแข่งขันรอบตัดเชือกกับทีมออสเตรเลียเพื่อชิงถ้วยรางวัลคริกเก็ตหญิงโลก ฝีมืออันยอดเยี่ยมของเธอในครั้งนั้น ทำให้ทีมอินเดียเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้
อาซีซา ซไบตี, เลบานอน
นักวิ่งระยะสั้น
เธอได้รับการยกย่องในฐานะ "หญิงเลบานอนที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์" หลังทำลายสถิติการวิ่งร้อยเมตรระดับประเทศลงได้ ล่าสุด อาซีซา ซไบตี พิชิตชัยอีกครั้ง ด้วยการเป็นนักกรีฑาผิวดำคนแรกของประเทศ ที่คว้าเหรียญทองในรายการชิงแชมป์กรีฑาภูมิภาคเอเชียตะวันตกและอาหรับ
แม่ของเธอเป็นชาวไลบีเรีย แต่พ่อเป็นชาวเลบานอน เธอจึงย้ายมาอยู่ที่ประเทศของพ่อตอนมีอายุได้ 11 ปี โดยต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติและชนชั้นอันเนื่องมาจากสีผิว
การเป็นนักกรีฑาได้กลายเป็นเส้นทางให้เธอได้ค้นพบตัวเอง รวมทั้งเป็นสิ่งที่เสริมพลังความแข็งแกร่ง และกระตุ้นให้เธอมุ่งมั่นต่อการรณรงค์ต่อสู้ต่าง ๆ
เธอใช้ความเป็นคนดัง ช่วยส่งเสียงเรียกร้องต่อประเด็นการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบในเลบานอน รวมทั้งรณรงค์เพื่อการไม่กีดกันแบ่งแยกและความเสมอภาค เธอยังร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนด้วย
ไอตานา บอนมาติ, สเปน
นักฟุตบอลหญิง
นักฟุตบอลหญิงตำแหน่งกองกลางผู้นี้ เกิดที่แคว้นกาตาลุญญาของสเปน ล่าสุด ไอตานา บอนมาติ สามารถนำทีมสโมสรบาร์เซโลนาคว้าชัยชนะ ทั้งในการแข่งขันสแปนิชลีกและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกของปีนี้
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงต่างหากที่ทำให้เธอกลายเป็นดาวรุ่งระดับนานาชาติ โดยบอนมาติมีบทบาทสำคัญต่อการคว้าชัยชนะของทีมสเปนทุกครั้ง เธอยิงได้ถึง 3 ประตู และได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำการแข่งขัน ด้วยวัยเพียง 25 ปี เธอยังคว้ารางวัลบัลลงดอร์อันทรงเกียรติ และตำแหน่งผู้เล่นแห่งปีของสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่าอีกด้วย
บอนมาติเป็นผู้ที่กล้าส่งเสียงแสดงความคิดเห็นทั้งในและนอกสนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเด็นการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมในวงการฟุตบอลหญิง
เมื่อชัยชนะของทีมฟุตบอลหญิงสเปนในการแข่งขันฟุตบอลโลก ต้องมาถูกบดบังด้วยเรื่องอื้อฉาวที่นายลูอิส รูเบียเลส ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปน ถือวิสาสะจูบปากเจนนี เฮร์โมโซ นักฟุตบอลหญิงของทีมสเปนอีกผู้หนึ่ง ทำให้บอนมาติใช้เวทีงานมอบรางวัลของยูฟ่า กล่าวสุนทรพจน์แสดงการสนับสนุนเพื่อนร่วมทีมของเธอ รวมทั้งผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาเหมือนกัน
พารามิดา, เยอรมนี
ดีเจและโปรดิวเซอร์เพลง
ก่อนการประท้วงใหญ่ในอิหร่านจะปะทุขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ดีเจ พารามิดา ได้ต่อต้านข้อจำกัดเชิงวัฒนธรรมต่อผู้หญิงที่มีเชื้อสายอิหร่านมานานแล้ว
เธอได้ค้นพบความหลงไหลในเสียงเพลง และวัฒนธรรมการเต้น ขณะที่อาศัยอยู่ในเมืองแฟรงเฟิร์ตกับกรุงเตหะราน สลับกันไปในช่วงวัยรุ่น ปัจจุบัน เธออาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ของเยอรมนี
อัลบั้มของเธอชื่อ "Love On The Rocks" ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ดนตรีเพื่อการเต้นรำที่โด่งดัง ได้ช่วยผลักดันวัฒธรรมการเต้นด้วยความปลาบปลื้ม (euphoric) และบุคคลภายนอก (outsider) มาจนถึงทุกวันนี้
ไม่เพียงเธอจะเป็นดีเจประจำบาร์พาโนรามา ในเครือไนท์คลับเบอร์เกน เธอยังเป็นดีเจที่ทั่วโลกต่างต้องการตัวให้มาทำการแสดง แล้วยังเป็นโปรดิวเซอร์เพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วย โดยเธอได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ เพื่อท้าทายบรรทัดฐานทางเพศในวงการดนตรีและอุตสาหกรรมยามค่ำคืนที่ครอบงำโดยผู้ชาย
คามิลา พิเรลลี, ปารากวัย
นักกีฬาโอลิมปิก
ถึงแม้ว่าความสามารถพิเศษของคามิลา พิเรลลี คือ สัตตกรีฑา หรือกีฬากรีฑา 7 ชนิด สำหรับนักกีฬาหญิง แต่พิเรลลีก็ต้องเคี่ยวเข็นกับอุปสรรคในช่วง 100 เมตรสุดท้ายของการวิ่ง ซึ่งทำให้เธอได้เข้ารอบไปสู่การแข่งขันโอลิมปิกรอบสุดท้ายที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
พิเรลลี ซึ่งมีฉายาว่า "เสือกัวรานี" เป็นเจ้าของสถิติการแข่งขันกรีฑาระดับชาติทั้งประเภทลู่และลานหลายรายการ เธอยังเป็นผู้ฝึกสอนกีฬา และครูสอนภาษาอังกฤษอีกด้วย
พิเรลลี เติบโตมาในครอบครัวที่รักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของปารากวัย ซึ่งบ้านของเธอกำลังประจันหน้าอย่างใกล้ชิดกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันพิเรลลี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น EcoAthlete Champion (นักต่อสู้-นักกีฬาผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อม) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พิเรลลีจะใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการเชิญชวนผู้คนได้พูดถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงลงมือช่วยโลกด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
"ฉันเติบโตขึ้นมาในเมืองที่เห็นสัตว์ป่าทุก ๆ วัน และการได้รู้ว่าสัตว์พวกนั้นต้องทรมานจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ฉันรู้สึกกังวลใจและทำให้ฉันอยากจะเข้าไปช่วยเหลือ"
คามิลา พิเรลลี
เดีย มีร์ซา, อินเดีย
นักแสดง
เดีย มีร์ซา ไม่ได้เป็นเพียงนักแสดงมือรางวัล ผ่านบทบาทอันหลากหลายของเธอบนจอภาพยนตร์อินเดีย แต่เธอยังมีส่วนร่วมในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรมมากมายอีกด้วย
ในฐานะทูตสันถวไมตรีของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ มีร์ซา ได้ขยายความตระหนักรู้ในประเด็นสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อากาศสะอาด และการคุ้มครองสัตว์ป่า
เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท "วัน อินเดีย สตอรีส์" (One India Stories) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสื่อที่มีจุดมุ่งหมายบอกเล่าเรื่องราวที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่ "ทำให้คุณหยุดคิด"
เธอยังเป็นทูตให้กับองค์กร "เซฟเดอะชิลเดรน" "กองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์" และกรรมการของมูลนิธิ "แซงชัวรี เนเจอร์ ฟาวน์เดชัน" (Sanctuary Nature Foundation)
ดายอน ลี, เกาหลีใต้
ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Kpop4Planet
ดายอน ลี กำลังรณรงค์ให้บรรดากลุ่มผู้ชื่นชอบศิลปินเค-ป็อปทั่วโลกให้หันมาต่อสู้กับวิกฤตด้านภูมิอากาศผ่านกลุ่ม Kpop4Planet
ก่อตั้งในปี 2021 กลุ่ม Kpop4Planet เรียกร้องให้กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในอุตสาหกรรมบันเทิงและบริการสตรีมมิ่งในเกาหลีใต้ให้ลุกขึ้นมาร่วมกันลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ และเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน
กลุ่มนี้ให้ความสำคัญต่อขยะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมดนตรี ด้วยการรณรงค์ให้บุคคลสำคัญในวงการเค-ป็อปหันมาใช้อัลบัมเพลงในรูปแบบดิจิทัลแทน
ปัจจุบัน ดายอง ลี กำลังก้าวผ่านวงการเพลงไปสู่ความท้าทายที่ต้องการเรียกร้องคำมั่นสัญญาจากเจ้าของแบรนด์แฟชั่นหรูในประเด็นด้านภูมิอากาศ ที่มักจะใช้ศิลปินผู้มีชื่อเสียงในวงการเค-ป็อปมาช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า
เมื่อได้ยืนหยัดเพื่อความยุติธรรมทางสังคมแล้ว พวกเราจะไม่ยอมแพ้จนกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง เราได้พิสูจน์แล้วว่าครั้งนี้เราทำได้และจะทำอีกครั้ง และดำเนินต่อไปเช่นนี้ เพื่อต่อสู้กับวิกฤตด้านภูมิอากาศ
ดายอน ลี
เบียงคา วิลเลียมส์, สหราชอาณาจักร
นักกรีฑา
เธอคือเจ้าของเหรียญทองการแข่งขันวิ่งสี่คูณร้อยเมตร ทั้งในการแข่งขันชิงแชมป์ยุโรปและเครือจักรภพ นอกจากนี้ เบียงคา วิลเลียมส์ ยังเป็นกัปตันทีมกรีฑาของบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ระหว่างการแข่งขันชิงแชมป์ทีมกรีฑายุโรป (EATC) ของปีนี้ด้วย
เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา เธอเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสองในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตร ประจำรายการชิงแชมป์กรีฑาแห่งสหราชอาณาจักร ทำให้เธอมีสิทธิติดทีมชาติและเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์กรีฑาโลกที่กรุงบูดาเปสต์
วิลเลียมส์และริคาร์โด ดอส ซานตอส คู่ชีวิตของเธอที่เป็นนักกรีฑาเช่นกัน ถูกตำรวจในกรุงลอนดอนสั่งให้หยุดรถและเข้าตรวจค้นร่างกาย เมื่อเดือนก.ค. ปี 2020
วิลเลียมส์และดอส ซานตอส ยื่นร้องเรียนต่อทางการ โดยกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมุ่งเป้าจับกุมพวกตนเพราะการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งการสอบสวนพบว่าตำรวจสองนายได้กระทำผิดอย่างร้ายแรงจริง และมีคำสั่งให้พวกเขาออกจากราชการในที่สุด
อันตินิกา เซนซี, อิตาลี
นักยิมนาสติกบนหลังม้า
อันตินิกา เซนซี เริ่มเล่นยิมนาสติกบนหลังม้า เมื่ออายุ 30 ปี เธอไม่คาดคิดว่าอีก 10 ปีต่อมา จะได้เข้าร่วมทีมฝึกซ้อมยิมนาสติกบนหลังม้า
จากลาเฟนิซ ทางตอนเหนือของอิตาลี เธอไม่ได้มีชีวิตที่ง่าย แม่ของเธอได้รับแจ้งว่าบุตรสาวจะ "ไม่รอดจากไข้หวัดครั้งแรก" หลังเกิดภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่เกิด
เซนซีเริ่มเล่นยิมนาสติกบนหลังม้า โดยเข้าร่วมโครงการที่ริเริ่มโดยสมาคมครอบครัวและคนพิการแห่งชาติของอิตาลี (Italy's National Association for Families and People with Disabilities – ANFFAS) และทีมกระโดดค้ำถ่อ ลาเฟนิซ
ตอนนี้เธอกำลังฝึกซ้อมร่วมกับ แอนนา คาวาลโลโร แชมป์โลกยิมนาสติกบนหลังม้า และ เนลสัน วิโดนี ผู้ฝึกสอน
อันเดรซา เดลกาโด, บราซิล
ภัณฑารักษ์และผู้บริหารจัดการทางวัฒนธรรม
ด้วยความที่เธอปรารถนาจะแบ่งปันประสบการณ์เมื่อครั้งได้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือการ์ตูน โดยมุ่งเป้าให้ไปถึงกลุ่มคนยากจนที่อาศัยอยู่ในแถบชานนครเซาเปาลู อันเดรซา เดลกาโด จึงได้จัดงาน "เพริฟาคอน" (PerifaCon) ขึ้น
งานมหกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนี้ มุ่งเปิดเวทีให้คนเขียนการ์ตูน รวมทั้งศิลปินและผู้ผลิตการ์ตูนจากชุมชนชาวสลัมของบราซิล ซึ่งมักจะถูกมองข้ามไปว่า พวกเขาก็สามารถเป็นผู้สร้างสรรค์และผู้บริโภคผลงานทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน
งานมหกรรมเพริฟาคอนที่จัดขึ้นในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 15,000 คน โดยมีการนำผลงานหนังสือการ์ตูนและวิดีโอเกมมาจัดแสดง รวมทั้งมีการแสดงคอนเสิร์ตและวัฒนธรรมของคนบ้าการ์ตูน (geek culture) ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย
ในฐานะที่เธอเป็นยูทูบเบอร์และผู้ผลิตรายการพ็อดแคสต์ด้วย เดลกาโดได้เป็นกระบอกเสียงให้กับการรณรงค์ เพื่อให้ชาวบราซิลเข้าถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า โดยเธอมุ่งเน้นเป็นพิเศษในการส่งเสริมผลงานของศิลปินผิวดำ
ดีสัก มาเด ริตา กุสุมา เดวี, อินโดนีเซีย
นักปีนหน้าผาแบบเร่งความเร็ว
ขณะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาในบาหลี ดีสัก มาเด ริตา กุสุมา เดวี ได้รับเชิญให้ไปปีนกำแพง และในไม่ช้าก็ตกหลุมรักการปีนหน้าผาแบบเร่งความเร็ว
เธอประสบความสำเร็จตั้งแต่ต้นในการแข่งขันระดับเยาวชน แต่ "ราชินีแห่งการปีนหน้าผาของอินโดนีเซีย" ได้เพิ่มความสูงขึ้นจริง ๆ ในปีนี้ โดยคว้าเหรียญทองในการแข่งขัน IFSC Climbing World Championships ปี 2023 พร้อมบันทึกเวลาใหม่ที่ 6.49 วินาที
ความสำเร็จนี้ทำให้เธอได้รับตั๋วไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส 2024 ซึ่งการปีนผาแบบเร่งความเร็วจะเป็นการแข่งขันที่แยกต่างหากเป็นครั้งแรก
นักปีนเขารายนี้สามารถสร้างประวัติศาสตร์โอลิมปิกให้กับอินโดนีเซีย ซึ่งถึงขณะนี้มีเหรียญโอลิมปิกจากกีฬาแบดมินตัน ยกน้ำหนัก และยิงธนูเท่านั้น
อเมริกา เฟอร์เรรา, สหรัฐฯ
นักแสดง
เธอคือหนึ่งในนักแสดงที่ผู้คนคุ้นหน้าที่สุดจากโลกบันเทิง ทั้งในฐานะนักแสดงมือรางวัล ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ อเมริกา เฟอร์รารา เป็นที่รู้จักจากบทบาทหลากหลาย ไม่ว่าจะบทบาทในภาพยนตร์ที่ทำลายหลายสถิติอย่าง Barbie, ภาพยนตร์เรื่อง Real Women Have Curves รวมถึงซีรีส์สุดฮิตอย่าง Ugly Betty
เธอเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดที่ชนะรางวัลเอมมีสาขานักแสดงนำหญิงจากบทบาทของเธอใน Ugly Betty นอกจากนี้ยังเป็นชาวลาตินคนแรกที่ได้รางวัลดังกล่าวด้วย ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมมายาวนาน เฟอร์ราราเป็นนักพูดฝีปากกล้าในประเด็นสิทธิสตรี และเรียกร้องให้มีผู้หญิงปรากฏตัวมากขึ้นบนหน้าจอ
ในฐานะลูกสาวของผู้อพยพจากฮอนดูรัส เธอรณรงค์ให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงชาวลาตินในสหรัฐฯ ผ่านองค์กรไม่แสวงกำไรที่ชื่อ Poderistas ด้วย
ข่าย นิน เว, เมียนมา
นักแสดง
เธอเริ่มอาชีพนักแสดงในเมียนมาเมื่อ 25 ปีก่อน จากนั้นข่าย นิน เว เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง จากบทนำในภาพยนตร์เรื่อง "ซานเย" ปัจจุบันเธอคือนักแสดงผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์เมียนมา
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เธอกลับเป็นที่รู้จักจากการทำกิจกรรมการกุศลมากกว่า โดยเมื่อปี 2014 เธอก่อตั้งมูลนิธิข่าย นิน เว ที่บำเพ็ญประโยชน์ในหลายด้าน รวมถึงการรับเลี้ยงดูแลเด็กกำพร้าและเด็กที่ถูกทอดทิ้ง
ด้วยงานการกุศลของเธอ ปัจจุบันข่าย นิน เว รับดูแลเด็กเกือบ 100 คน ที่พ่อแม่ของพวกเขาไม่สามารถจะเลี้ยงดูได้เองด้วยเหตุผลหลายประการ
เธอยังทำหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรีของคณะละคร United Act ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการลักพาตัวและค้ามนุษย์ในเด็ก
แซนดิเล เอ็นดห์โลวู, แอฟริกาใต้
ฝึกสอนดำน้ำฟรีไดวิง
ในฐานะครูสอนดำน้ำฟรีไดวิ่งหญิงผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ แซนดิเล เอ็นดห์โลวู ต้องการให้การเข้าถึงมหาสมุทรมีความหลากหลายมากขึ้น
เธอก่อตั้งมูลนิธิ The Black Mermaid Foundation ซึ่งเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวและชุมชนท้องถิ่นได้สัมผัสกับมหาสมุทร โดยหวังว่าจะช่วยให้คนกลุ่มใหม่ ๆ ได้ใช้พื้นที่เหล่านี้ในด้านสันทนาการ การประกอบอาชีพ และด้านกีฬา
เอ็นดห์โลวูเป็นนักสำรวจมหาสมุทร นักเล่าเรื่อง และนักสร้างภาพยนตร์ เธอใช้ทักษะเหล่านี้เพื่อช่วยกำหนดรูปแบบผู้พิทักษ์มหาสมุทรรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เรียนรู้เกี่ยวกับมลพิษในมหาสมุทรและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และมีส่วนร่วมในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของพวกเขา
เมื่อคิดถึงจำนวนเสียงของคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้ฉันมีความหวังท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
แซนดิเล เอ็นดห์โลวู
จอร์เจีย แฮร์ริสัน, สหราชอาณาจักร
คนดังทางโทรทัศน์
หลังตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีผู้เผยภาพขณะมีเพศสัมพันธ์ของเธอลงในโลกออนไลน์ แฮร์ริสันจึงตัดสินใจใช้เรื่องราวของเธอเข้าช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี รวมทั้งเปลี่ยนแปลงทรรศนะของสังคมสหราชอาณาจักรที่มีต่อการยินยอมพร้อมใจทางเพศ
คนดังทางโทรทัศน์ซึ่งเป็นที่รู้จักจากรายการเรียลลิตีและเกมโชว์ Love Island และ The Only Way is Essex ผันตัวมาเป็นผู้นำการรณรงค์แก้ไขกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางออนไลน์ เพื่อให้สามารถดำเนินคดีอาญากับผู้เผยภาพเปลือยหรือภาพขณะมีเพศสัมพันธ์กับอดีตคนรักได้ง่ายขึ้น ซึ่งชาวอังกฤษเรียกการกระทำผิดเช่นนี้ว่า "ปล่อยภาพเปลือยล้างแค้น" (revenge porn)
ปัจจุบันแฮร์ริสันเรียกร้องให้สื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องรับโทษหนักขึ้น หากปล่อยให้มีการลงภาพหรือคลิปที่ถูกบันทึกโดยปราศจากความยินยอม รวมทั้งไม่พยายามจะยับยั้งการเผยแพร่ส่งต่อเนื้อหาเหล่านั้นด้วย
อลิซ โอซแมน, สหราชอาณาจักร
นักเขียนบทละครโทรทัศน์
เธอคือนักเขียน นักวาดภาพประกอบนวนิยาย และนักเขียนบทละครโทรทัศน์ อลิซ โอซแมน เป็นผู้รังสรรค์นวนิยายประกอบภาพสำหรับวัยรุ่นเรื่องดัง Heartstopper ทั้งยังดัดแปลงเรื่องราวการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) นี้ ให้กลายเป็นละครโทรทัศน์ที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลเอ็มมีด้วย
โอซแมนเป็นผู้เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องนี้ทุกตอน ทั้งยังมีส่วนร่วมในการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดง ไปจนถึงการทำดนตรีประกอบ
นอกจากนี้ เธอยังเป็นเจ้าของผลงานนวนิยายสำหรับวัยรุ่นอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Radio Silence, Loveless, หรือ Solitaire ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่เธอมีอายุเพียง 19 ปี
หนังสือของเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากมาย และได้รับรางวัลอันทรงเกียรติอย่างเช่น YA Book Prize, Inky Awards, เหรียญรางวัลคาร์เนกี, และรางวัลทางเลือกหนังสือดี (Goodreads Choice Awards) มาแล้ว
จัสตินา ไมลส์, สหรัฐฯ
นักแสดงหูหนวก
ในการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 57 เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก จัสตินา ไมลส์ ได้สร้างประวัติศาสตร์
นักแสดงหูหนวกคนนี้ได้กลายเป็นไวรัล เมื่อเธอทำการแสดงที่เต็มไปด้วยพลังและแรงดึงดูด โดยหยิบยืมเพลงบางท่อนมาจากนักร้องชื่อดังอย่างริฮานนา (Rihanna)
นี่ทำให้เธอเป็นผู้หญิงหูหนวกคนแรกที่ได้ทำการแสดงผ่านภาษามือในโชว์พักครึ่งการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ การแปลเพลง Lift Every Voice and Sing ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเพลงชาติของชาวผิวดำ ให้เป็นภาษามือของเธอ ก็ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นนการแข่งขันซูเปอร์โบวล์เช่นกัน
ไมลส์ต้องการที่จะแสดงให้โลกเห็นภาพของคนหูหนวกที่ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น และเธอก็หวังจะเปิดองค์กรของเธอเองเพื่อฝึกฝนพยาบาลหูหนวก
การเมืองและการรณรงค์
เรนิตา โฮล์มส์ , สหรัฐอเมริกา
นักรณรงค์ด้านที่อยู่อาศัย
เรนิตา โฮล์มส์ พักอยู่ย่านลิตเติ้ลเฮติในไมอามี เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ O.U.R. เพื่อให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา
เธอรณรงค์เพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนชายขอบ รวมถึงชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ราคาที่ดินในพื้นที่ห่างไกลจากชายฝั่งก็พุ่งขึ้นตาม
แม่ของเธอเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูก 11 โฮล์มส์เป็นลูกคนโตที่ต้องอยู่กับพี่น้องบางคนที่พิการ
เธอเป็นสมาชิกของโครงการ Empowering Resilient Women ของสถาบันคลีโอ ซึ่งพยายามจุดประกายให้มีการดำเนินการด้านสภาพอากาศบนพื้นฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เธอช่วยเหลือหน่วยงานการเคหะในท้องถิ่นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหญิงชาวแอฟริกันอเมริกันและผู้หญิงในเมืองชั้นใน
มีความหวังในสำนึกที่ผูกมัดเราในฐานะผู้หญิงกับพระแม่ธรณี เรามีความยืดหยุ่น แข็งแกร่ง ถูกสร้างมาเพื่อการเลี้ยงดู เราทำจริงและดูแลจริง
เรนิตา โฮล์มส์
โซเนีย กัวจาจารา, บราซิล
รัฐมนตรีประจำรัฐ
ในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิ์ของชนเผ่ากลุ่มน้อยในบราซิล ในปี 2023 โซเนีย กัวจาราคา ได้กลายเป็นรัฐมนตรีคนแรกสำหรับผู้คนพื้นเมืองของบราซิล การแต่งตั้งเธอโดยประธานาธิบดีคนใหม่ ลูลา ดา ซิลวา ได้รับการชื่นชมอย่างสูง
เธอประกาศว่าการต่อสู้กับอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องที่เธอให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ
กัวจาจารา เกิดในบ้านที่พ่อแม่ไม่รู้หนังสือในพื้นที่ของชนเผ่าอาราริโบเอีย (Araribóia) ในป่าแอมะซอน ณ บ้านเกิดของเธอนี้เองที่เธอได้เห็นว่าโลกร้อนสามารถทำลายระบบนิเวศได้อย่างไร
เธอจากบ้านเกิดไปเพื่อเรียนวรรณคดี ทำงานในฐานะพยาบาลและคุณครู รวมถึงได้เริ่มเส้นทางการเป็นนักกิจกรรม ในปี 2022 เธอได้กลายเป็นผู้แทนราษฎรสำหรับชนเผ่ากลุ่มน้อยคนแรกในรัฐเซา เปาโล
เราต้องคิดถึงวิธีที่จะสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศและต่อสู้การแบ่งแยกสีผิวด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกลุ่มคนที่สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดคือคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบและได้รับผลกระทบหนักที่สุดหากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย พวกเราชนเผ่าพื้นถิ่นคือผู้พิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและชีวิตที่แท้จริง
โซเนีย กัวจาจารา
อลิเซีย กาฮุยยา, เอกวาดอร์
นักกิจกรรมด้านสิทธิคนพื้นถิ่น
ในฐานะบุคคลสำคัญที่ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ป่าฝนแอมะซอนในเอกวาดอร์ อลิเซีย กาฮุยยา ได้รับชัยชนะยิ่งใหญ่ในปีนี้
จากการทำประชามติประวัติศาสตร์ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ชาวเอกวาดอร์โหวตให้หยุดการสร้างบ่อน้ำมันใหม่ทั้งหมดในอุทยานแห่งชาติยาสุนี ผลของประชามตินี้หมายความว่าบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเอกวาดอร์ต้องหยุดการขุดน้ำมันในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นที่อยู่ของกลุ่มชนเผ่าที่ยังไม่เคยติดต่อกับโลกภายนอกด้วย
กาฮุยยา เกิดในอุทยานแห่งชาติยาสุนี และเป็นผู้นำของชนเผ่าเวารานี (Waorani) เธอได้รณรงค์ให้มีการทำประชามตินี้มานับทศวรรษแล้ว
ปัจจุบันเธอเป็นหัวหน้าของหน่วยสตรี ของสมาพันธ์ชนเผ่าพื้นเมืองของเอกวาดอร์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไปมากสำหรับเรา ทำให้เกิดน้ำท่วมที่ทำลายพืชผลของเรา เมื่อพระอาทิตย์แผดแสงแรงเกินไปและเกิดภัยแล้ง อาหารจำนวนมากของเราก็ถูกทำลาย ซึ่งทำให้เราโศกศัลย์อย่างมาก เนื่องจากแรงที่เราลงไปทั้งหมดกับการเพาะปลูกต้องสูญเปล่า
อลิเซีย กาฮุยยา
เบลลา กาโลส, ติมอร์-เลสเต
นักรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมือง
เบลลา กาโลส คือนักรณรงค์ผู้กล้าหาญ เธอมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศติมอร์-เลสเต ทั้งก่อนและหลังได้รับเอกราชจากอินโดนีเซีย เมื่อปี 2002
ระหว่างที่ต้องลี้ภัยทางการเมือง กาโลสเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของชาวติมอร์-เลสเต เธอหวนคืนแผ่นดินเกิดเมื่อประเทศของตนได้รับเอกราชแล้ว และเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูบูรณะประเทศ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการสู้รบนานหลายสิบปี จนทำให้ประชากรครึ่งหนึ่งตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง
ในปี 2015 เธอเปิด "โรงเรียนสีเขียวลิวบอรา" เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เป็นผู้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในสังคม
ปัจจุบันกาโลสมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต โดยมุ่งทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้เหล่าสตรี และเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)
อามัล คลูนีย์, สหราชอาณาจักร/เลบานอน
นักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
อามัล คลูนีย์ เป็นนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนมือรางวัล เธอทุ่มเทเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อปกป้องเหยื่อของความอยุติธรรม
คดีความใหญ่ ๆ ของเธอ มีทั้งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอาร์เมเนียและยูเครน และความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงในมาลาวีและเคนยา
ความสำเร็จทางคดีความช่วงไม่นานมานี้ของเธอ รวมถึงการเป็นผู้แทนเหยื่อที่ถูกกลุ่มรัฐอิสลามกระทำ และเหยื่อจากผู้นำทางทหารในดาร์ฟูร์ เธอยังต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อมวลชน และนักโทษทางการเมือง ที่ตกเป็นเป้าของระบอบการเมืองที่กดขี่
เธอยังเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งโคลอมเบีย และผู้ร่วมก่อตั้ง "มูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม" ซึ่งสนับสนุนทางกฎหมายแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายให้เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
นาตาชา คันดิช, เซอร์เบีย
ทนายความ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน
นับตั้งแต่เหตุการณ์การสู้รบปะทุขึ้นในยูโกสลาเวียร์ (เดิม) ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นาตาชา คันดิช ถ่ายทำสารคดีบันทึกภาพช่วงสงครามอันโหดร้ายเอาไว้ ซึ่งรวมถึงการข่มขืน การทรมาน การฆาตกรรม และการบังคับบุคคลให้สูญหาย
เธอเป็นตัวแทนครอบครัวของเหยื่อหลากหลายเชื้อชาติต่อศาลอาชญากรรมสงครามในกรุงเบลเกรด และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลสโลโบดัน มิโลเซวิช ของเซอร์เบีย ที่มีต่อชาวโคโซโว
คันดิเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์กฎหมายด้านมนุษยธรรม ซึ่งได้รับการยกย่องจากการสืบสวนอาชญากรรมสงครามด้วยความเป็นกลาง
เธอช่วยจัดตั้งเครือข่ายสร้างความปรองดอง RECOM ที่พยายามแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสงครามในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 130,000 คน
รุกชนา คาปาลี, เนปาล
นักรณรงค์เพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัย
ในฐานะคนข้ามเพศที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รุกชนา คาปาลี เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความยากลำบาก เนื่องจากสังคมของชนพื้นเมืองในแคว้นเนวาของเนปาล ยังคงขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของเธอ
คาปาลีจึงเข้าสู่เส้นทางการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ในเรื่องความหลากหลายของเพศสภาพและเพศวิถี เธอเริ่มเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองตอนเป็นวัยรุ่น และเป็นกระบอกเสียงทางสื่อสังคมออนไลน์ให้กับการรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ปัจจุบันคาปาลีเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปีที่สาม และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนายกระดับสิทธิทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวเนปาล
เนื่องจากคาปาลีเป็นคนวรรณะ "จูกี" ซึ่งถือเป็นผู้ด้อยโอกาสและมีสถานะต่ำต้อยในสังคมของแคว้นเนวามายาวนาน เธอจึงเป็นหัวหอกในการต่อสู้คัดค้านการไล่ที่คนวรรณะจูกี ซึ่งทางการบังคับให้พวกเขาต้องย้ายออกจากบ้านที่อยู่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด
นีมา นามาดามู, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ
เครือข่าย "วีรสตรีผงาด" หรือ "มามา ชูจา" (Mama Shuja) มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงและเด็กสาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ นีมา นามาดามู เป็นผู้ก่อตั้งองค์กรเครือข่ายระดับรากหญ้าแห่งนี้ขึ้น โดยใช้การศึกษาและเทคโนโลยีเป็นกระบอกเสียงให้กับเหล่าสตรี ทั้งสอนให้พวกเธอรู้จักต่อสู้เพื่อสิทธิของตน
นามาดามูเกิดในพื้นที่ชนบทห่างไกลทางตะวันออกของคองโก เธอติดเชื้อโปลิโอเมื่ออายุได้เพียงสองขวบ แต่ก็เป็นหญิงผู้มีความพิการคนแรกจากเผ่าของเธอที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
เธอได้เป็นสมาชิกรัฐสภา และเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการด้านเพศและครอบครัวของคองโกมาโดยตลอด
คริสเตียนา ฟิเกเรส, คอสตาริกา
นักการทูตและผู้แทนเจรจาด้านภูมิอากาศ
เมื่อกระบวนการเจรจาในการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติที่กรุงโคเปนเฮเกนพบทางตัน คริสเตียนา ฟิเกเรส ได้เข้ามาเป็นสื่อกลางในการค้นหาทางออกให้กับทุกฝ่าย
นับแต่นั้นมา ฟิเกเรสซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการบริหารของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ใช้เวลาถึงหกปีในการพัฒนาแผนเจรจาต่อรอง ซึ่งรับประกันว่าทุกชาติจะเห็นพ้องและปฏิบัติตามกลยุทธ์ด้านภูมิอากาศร่วมกัน
ผลงานของเธอมีส่วนช่วยให้ประเทศและองค์กรกว่า 200 แห่ง ยอมลงนามในความตกลงปารีส ปี 2015 อันเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่กำหนดพันธกิจสำคัญ ให้ทุกฝ่ายร่วมกันรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้พุ่งสูงเกินระดับก่อนการปฏิวัติอุตสากรรม 2 องศาเซลเซียส
ฟิเกเรสยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Global Optimism ซึ่งทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ เพื่อนำแนวทางแก้ไขปัญหาด้านภูมิอากาศมาปรับใช้ให้ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ
บางครั้งฉันรู้สึกว่าถูกทับถมด้วยความเศร้าใจ เหมือนกับเป็นอัมพาตไปเพราะอารมณ์ของตัวเอง จนไม่สามารถจะลงมือทำอะไรได้ บางครั้งฉันรู้สึกโกรธและถูกครอบงำด้วยอารมณ์ร้ายนั้น อยากจะตอบโต้กลับไปให้สาแก่ใจ แต่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด ฉันใช้ความโกรธและความเจ็บปวดของฉัน ยึดโยงตนเองไว้กับรากฐานของอารมณ์นั้น แล้วจึงเปลี่ยนมันเป็นความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้งที่จะกระทำการต่าง ๆ ด้วยความอดทนเข้มแข็ง ความรัก และความปรารถนาต่อความสุขเบิกบานใจที่กำลังจะมาถึง เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับลูกหลานของเราและคนรุ่นต่อ ๆ ไป
คริสเตียนา ฟิเกเรส
อูลันดา มตัมบา, มาลาวี
นักเคลื่อนไหวต่อต้านการแต่งงานเด็ก
อูลันดา มตัมบา เติบโตในชุมชนแห่งหนึ่งของกรุงลิลองเวของมาลาวี ซึ่งสนับสนุนการศึกษาของสตรีน้อยมาก เด็กผู้หญิงจำนวนมากถูกบีบให้ออกจากการศึกษาเพื่อแต่งงาน ก่อนอายุ 18 ปี
มตัมบา ท้าทายบรรทัดฐานของชุมชน ด้วยการไม่เพียงศึกษาจบปริญญาตรี แต่ยังจบปริญญาโทด้วย
เธอผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อปกป้องเด็กผู้หญิงจากการแต่งงานในวัยเด็ก รวมถึงเพิ่มการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
ปัจจุบัน เธอเป็นผู้อำนวยการประจำมาลาวีขององค์กร "เอจ แอฟริกา" (AGE Africa) ซึ่งมุ่งขับเคลื่อนความเท่าเทียมในการเข้าถึงโรงเรียนมัธยมสำหรับเด็กผู้หญิงทั่วทวีปแอฟริกา
ทามาร์ มิวเซริดเซ, จอร์เจีย
ผู้สื่อข่าว
ผู้สื่อข่าว ทามาร์ มิวเซริดเซ กลายเป็นตัวแทนของช่องโทรทัศน์สาธารณะของจอร์เจีย ด้วยวัยเพียง 18 ปี เธอรู้จักในอีกชื่อว่า ทามูนา เรียกว่าเส้นทางชีวิตกำลังโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่แล้วทุกอย่างเปลี่ยนไปในวัย 312 ปี เมื่อเธอพบว่า เธอเป็นบุตรที่ถูกอุปการะมา
เธอยอมเสียทุกอย่าง เพื่อตามหาพ่อแม่ในสายเลือด ซึ่งระหว่างการค้นหา เธอได้พบกับตลาดการอุปการะเด็กผิดกฎหมายขนาดใหญ่ที่ดำเนินอยู่ในจอร์เจียมานับแต่ทศวรรษที่ 1950
เธอได้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก "แอมเสิร์ชชิง" (I'm searching) ซึ่งสร้างการถกเถียงในระดับประเทศถึงการอุปการะบุตรอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทารกส่วนใหญ่ถูกลักพาตัวมาจากโรงพยาบาลคลอดบุตรหลายแห่ง
องค์กรของมิวเซริดเซ ช่วยให้หลายร้อยครอบครัวได้กลับมาพบหน้ากันอีกครั้ง แต่ตัวเธอยังคงค้นหาพ่อแม่ในสายเลือดของตนเองอยู่
ซาปิเดห์ ราชนู, อิหร่าน
นักเขียนและศิลปิน
ชื่อของซาปิเดห์ ราชนู เริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในอิหร่าน หลังจากที่เธอส่งเสียงคัดค้านกฎหมายที่บังคับให้สตรีสวมผ้าคลุมศีรษะหรือฮิญาบ
ราชนูถูกจับกุมหลังมีเหตุทะเลาะวิวาทกับหญิงอีกผู้หนึ่ง ซึ่งบังคับให้เธอสวมฮิญาบบนรถบัส
ขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ เธอปรากฏตัวทางช่องสถานีโทรทัศน์ของรัฐพร้อมกับรอยฟกช้ำบนในหน้า และกล่าวขอโทษสำหรับสิ่งที่ได้ทำลงไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2022 ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่มาห์ซา อามินี จะเสียชีวิต ระหว่างถูกตำรวจศีลธรรมของอิหร่านควบคุมตัวอยู่
ในปีนี้ราชนูถูกดำเนินคดี หลังแชร์ภาพของตัวเธอเองทางออนไลน์ ซึ่งเป็นภาพขณะที่ไม่ได้สวมผ้าคลุมศีรษะ เธอยังบอกว่าถูกทางมหาวิทยาลัยที่เธอเรียนอยู่สั่งพักการเรียน เพราะการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมของเธอ
ปัจจุบันราชนูถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำแล้ว และยังคงเดินหน้าต่อต้านกฎที่บังคับให้ผู้หญิงสวมฮิญาบต่อไป
อีเรียนา สตาฟชุค, ยูเครน
ที่ปรึกษานโยบายด้านภูมิอากาศ
ในฐานะหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านภูมิอากาศ อีเรียนา สตาฟชุค เพิ่งเข้าร่วมมูลนิธิเพื่อสภาพภูมิอากาศแห่งยุโรป (European Climate Foundation) ในฐานะผู้จัดการโครงการประจำยูเครน เป้าหมายหลักคือการออกแบบวิธีการที่เศรษฐกิจยูเครนจะฟื้นตัวหลังสงครามอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ
ก่อนมารับตำแหน่งนี้ เธอเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสิ่งแวดล้อมของยูเครนระหว่างปี 2019-2022 มาก่อน โดยเธอรับผิดชอบนโยบายหลายด้าน ไมว่าจะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพยายามเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสหภาพยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความหลากหลายทางชีวภาพ
สตาฟชุคเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงกำไรด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญสองแห่ง ได้แก่ Ecoaction และสมาคมนักปั่นจักรยานแห่งกรุงเคียฟ (Kyiv Cyclists' Association) เธอยังประสานเครือข่ายประชาสังคมในระดับภูมิภาคที่ทำงานในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
ภารกิจของเราคือการพยายามอย่างดีที่สุดในสถานที่และสถานการณ์ที่เราอยู่ ฉันยึดตามคำพูดของนักบุญฟังซิส แห่งอัสซีซี ที่พูดว่า "เริ่มต้นด้วยการทำสิ่งที่จำเป็น จากนั้นก็ทำสิ่งที่เป็นไปได้ และทันใดนั้นเองคุณก็กำลังทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้"
อีเรียนา สตาฟชุค
เบอร์นาเด็ตต์ สมิธ, เทอร์เทิล ไอแลนด์ / แคนาดา
นักรณรงค์เพื่อครอบครัวของผู้สูญหาย
หลังจากที่น้องสาวของเธอหายตัวไปเมื่อปี 2008 เบอร์นาเด็ต สมิธ ได้พยายามออกค้นหาอย่างไม่ลดละ
เธอกลายมาเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อครอบครัวของผู้สูญหาย รวมทั้งสตรีและเด็กหญิงของชนเผ่าพื้นเมืองที่ตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรมทั่วแคนาดา โดยได้ก่อตั้งแนวร่วมเพื่อช่วยประสานงานในการสืบสวนหาความจริง
สมิธยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร "ใช้อวนลากแม่น้ำแดง" (Drag the Red) ซึ่งเป็นความริเริ่มในการค้นหาซากศพและร่องรอยของผู้สูญหาย ในแม่น้ำแดง (Red River) ของเมืองวินนิเพ็ก
เธอเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของมณฑลมานิโตบาเป็นสมัยที่สาม ทั้งยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้หญิงจากกลุ่มชนพื้นเมือง First Nations คนแรก ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีระดับมณฑล ซึ่งปัจจุบันเธอเป็นรัฐมนตรีผู้ดูแลงานด้านการเคหะ คนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย และผู้ติดยาเสพติด
กลอเรีย สไตน์ม, สหรัฐฯ
ผู้นำเรียกร้องสิทธิสตรี
ในฐานะผู้นำขบวนการสิทธิสตรีระดับโลกนับแต่ทศวรรษที่ 1970 กลอเรีย สไตน์ม ได้สร้างคุณูปการจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ครอบคลุมผู้คนทุกช่วงวัย
สไตน์ม ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ในด้านความเท่าเทียม เธอเป็นทั้งนักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน นักเขียน อาจารย์ และโฆษกสื่อ
เธอยังร่วมก่อตั้งนิตยาสาร "มิสแมกกาซีน" (Ms.Magazine) ที่เริ่มตีพิมพ์เมื่อปี 1971 จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งถือเป็นนิตยสารรายคาบแรกของสหรัฐฯ ที่นำประเด็นการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี มาสู่สื่อกระแสหลัก
ด้วยวัย 89 ปี สไตน์ม ยังคงทำงานเพื่อให้โลกนี้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ อาทิ "ศูนย์สื่อสตรี" (Womens' Media Center) "อีอาร์เอ โคลลิชัน" (ERA Coalition) และ "อีควอลิตี นาว" (Equality Now)
มาเรียม อัล-คาวาจา, บาห์เรน / เดนมาร์ก
นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน
เธอคือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศบาห์เรน มาเรียม อัล-คาวาจา มีเชื้อสายเดนมาร์ก และเป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญที่รณรงค์เรียกร้องให้การปฏิรูปทางการเมืองเกิดขึ้นในภูมิภาคอ่าวอาหรับ
งานของเธอมุ่งสร้างความสนใจต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอับดุลคาดี อัล-คาวาจา ซึ่งเป็นพ่อของเธอเอง (#FreeAlKhawaja) เนื่องจากเขาเป็นนักกิจกรรมคนสำคัญและนักโทษการเมืองซึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต หลังเข้าร่วมในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2011
อัล-คาวาจา ร่วมเป็นคณะกรรมการในองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง รวมถึง Civicus และ International Service for Human Rights เธอยังเป็นสมาชิกขององค์กรยุวชนนักสตรีนิยม FRIDA และองค์กรแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน
ชัมซา อาราวีโล, โซมาเลีย / สหราชอาณาจักร
นักรณรงค์ต่อต้านการขริบอวัยวะเพศหญิง
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะขจัดการขริบอวัยวะเพศหญิงให้หมดสิ้นไป ชัมซา อาราวีโล ให้การศึกษาและสร้างความตระหนักรู้ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว ผ่านคลิปวิดีโอทางออนไลน์อันทรงพลังของเธอ
อาราวีโลเกิดที่โซมาเลีย แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร เธอถูกขริบอวัยวะเพศตั้งแต่อายุเพียงหกขวบ ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำเพื่อตัดบางส่วนหรือทั้งหมดของอวัยวะเพศหญิงด้านนอกออก โดยไม่ได้ทำเพราะความจำเป็นทางการแพทย์แต่อย่างใด
เธอต้องการเผยแพร่เรื่องราวโหดร้ายนี้ให้คนทั้งโลกรับรู้ โดยปัจจุบันมีผู้เข้าไปชมคลิปของเธอบนสื่อสังคมออนไลน์ TikTok ถึงกว่า 70 ล้านครั้ง
ปัจจุบันเธอให้ความช่วยเหลือแก่พลเมืองอังกฤษที่ติดอยู่ในต่างประเทศ และมีความเสี่ยงว่าจะถูกครอบครัวใช้ความรุนแรงหรือสังหาร "เพื่อรักษาเกียรติ" (honour-based violence) เธอยังเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ตำรวจนครบาลกรุงลอนดอน เมื่อเกิดคดีการลักลอบขริบอวัยวะเพศหญิง และได้เปิดตัวองค์กรการกุศล "สวนแห่งความสงบ" (Garden of Peace) อีกด้วย
เดเฮนนา เดวิสัน, สหราชอาณาจักร
สมาชิกรัฐสภา
เมื่อปี 2019 เดเฮนนา เดวิสัน ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของเขตบิชอปโอกแลนด์ที่สังกัดพรรคอนุรักษ์นิยม นับตั้งแต่มีการก่อตั้งเขตนี้ขึ้นมาในเมืองเดอแรม เมื่อปี 1885 จากนั้นเธอได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีด้านการพัฒนาเมืองในปี 2022 โดยมุ่งสนับสนุนการเลื่อนชั้นทางสังคมและการฟื้นฟูบูรณะต่าง ๆ
เธอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา โดยเผยว่าแพทย์ได้วินิจฉัยอาการป่วยของเธอ ว่าเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนแบบเรื้อรัง
เมื่อตอนที่เดวิสันมีอายุ 13 ปี พ่อของเธอเสียชีวิตเพราะถูกคนร้ายต่อยเพียงหมัดเดียว การที่คนร้ายได้รับเพียงโทษสถานเบา ทำให้เธอเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยก่อตั้งกลุ่ม สส. ที่มาจากทุกพรรคในสภา เพื่อพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปบทลงโทษ รวมทั้งการให้ความเป็นธรรมต่อเหยื่อที่ถูกสังหารด้วยวิธีดังกล่าว
เธอยังสนับสนุนการพัฒนาวิธีใหม่ ๆ ที่ช่วยรักษาไมเกรน และช่วยรณรงค์ให้มีการจัดสรรทุนวิจัยเพิ่มขึ้นสำหรับการศึกษาโรคมะเร็งต่อมน้ำนมแบบลุกลาม
ยาสมีนา เบนซลิมาเน, โมร็อกโก
ผู้ก่อตั้ง Politics4Her
เธอคือผู้อุทิศตนเพื่อยกระดับความเสมอภาคทางเพศ ยาสมีนา เบนซลิมาเน ได้ก่อตั้งองค์กร "การเมืองเพื่อเธอ" หรือ Politics4Her เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหญิงสาวและเด็กสาวในกระบวนการทางการเมืองและการตัดสินใจที่สำคัญต่าง ๆ
เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวถล่มโมร็อกโกเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เบนซลิมาเนและองค์กรของเธอ ได้เรียกร้องให้มีการมอบความช่วยเหลือที่คำนึงถึงประเด็นปัญหาเรื่องเพศด้วย
เธอเผยแพร่แถลงการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า ความยากลำบากที่สตรีและเด็กหญิงในโมร็อกโกต้องเผชิญอยู่แล้ว จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อพวกเธอประสบหายนะภัย เช่นการขาดสุขภาวะขณะมีประจำเดือนเพราะความยากจน และการถูกบังคับให้แต่งงาน
ในฐานะผู้ดูแลให้คำปรึกษาและคณะกรรมการขององค์กรไม่แสวงผลกำไรหลายแห่ง เธอช่วยให้หญิงสาวพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำของตนเอง ผลงานดีเด่นของเธอทำให้ได้รับรางวัลสตรีผู้สร้างสันติภาพจากองค์การสหประชาชาติ
ยาเอล เบราโด-บาฮัต, อิสราเอล
ทนายความ
ในฐานะหนึ่งในประธานกรรมการร่วมของ Women Wage Peace (WWP) เบราโด-บาฮัตได้นำพื้นหลังด้านกฎหมายของเธอมาใช้กับการเคลื่อนไหวรากหญ้าเพื่อสันติภาพในอิสราเอล ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้มีสมาชิกอยู่กว่า 50,000 คน
WWP ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2014 ได้พยายามหาช่องทางต่อรองเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และเน้นย้ำถึงบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการเพื่อสันติภาพ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา WWP ได้ร่วมมือกับขบวนการเพื่อนหญิงปาเลสไตน์ ที่ชื่อ Women of the Sun
เบราโด-บาฮัต บอกว่าเธอเป็นหนี้บุญคุณเมนเทอร์ของเธอ นั่นคือ วิเวียน ซิลเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง WWP และนักกิจกรรมด้านสันติภาพคนดัง ซิลเวอร์ได้อุทิศตัวเองหลายทศวรรษเพื่อสร้างความเข้าใจและความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ ทั้งนี้ ซิลเวอร์ถูกฆ่าในการโจมตีโดยฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค.
ชู เสาเส่า, จีน
นักรณรงค์เพื่อสิทธิในการแช่แข็งเซลล์ไข่ของผู้หญิง
เมื่อปี 2018 เธอยื่นคำร้องเพื่อขอฝากไข่หรือแช่แข็งเซลล์ไข่ของตัวเอง ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะเธอยังเป็นสาวโสด คู่ชายหญิงชาวจีนที่สมรสแล้วเท่านั้นจึงจะมีสิทธิฝากไข่ได้
ชูยื่นฟ้องโรงพยาบาลแห่งนั้นต่อศาล โดยถือเป็นคดีความแรกที่ท้าทายต่อประเด็นสิทธิการฝากไข่ของหญิงโสดชาวจีน
การพิจารณาคดีประวัติศาสตร์ดังกล่าว เริ่มขึ้นในเดือนธ.ค. ปี 2019 โดยสื่อมวลชนทุกแขนงพากันตีข่าว เนื่องจากจีนกำลังมีความวิตกกังวลเรื่องอัตราการเกิดของประชากรต่ำ
จนถึงขณะนี้ศาลยังไม่มีคำตัดสินออกมาในกรณีดังกล่าว แต่คดีความของชูได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยนักวิชาการด้านกฎหมาย การแพทย์ และจริยธรรม ต่างก็ศึกษากรณีของเธอ ปัจจุบันชูยังคงเป็นนักรณรงค์คนสำคัญ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อสิทธิในการเจริญพันธุ์ของหญิงโสด และสิทธิในร่างกายตนเองของสตรี
โมนิกา แม็กวิลเลียมส์, สหราชอาณาจักร
อดีตนักการเมืองและผู้แทนเจรจาสันติภาพ
ปีนี้ครบรอบ 25 ปี ของการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ Good Friday ของไอร์แลนด์เหนือ โมนิกา แม็กวิลเลียมส์ ได้มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำการเจรจาสันติภาพพหุภาคี ซึ่งเป็นที่มาของข้อตกลงดังกล่าว
เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร "แนวร่วมสตรีไอร์แลนด์เหนือ" พรรคการเมืองที่รวมคนจากทุกหมู่เหล่าโดยไม่แบ่งแยก ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างข้อตกลงสันติภาพกู๊ดฟรายเดย์
เธอได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดแรกของไอร์แลนด์เหนือ และในฐานะที่เป็นข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของไอร์แลนด์เหนือด้วย เธอยังเป็นผู้ร่างคำชี้แนะ สำหรับการเตรียมออกกฎหมายใหม่ว่าด้วยสิทธิของประเทศ
ปัจจุบันแม็กวิลเลียมส์รับหน้าที่ดูแลงานด้านการยุบเลิกและสลายกลุ่มติดอาวุธ เธอยังมีผลงานตีพิมพ์ว่าด้วยปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงหลายชิ้นด้วย
รินะ โกะโนอิ, ญี่ปุ่น
อดีตทหารหญิง
เมื่อมีอายุเพียง 11 ปี ทหารหญิงผู้หนึ่งได้ช่วยเธอไว้ ขณะอพยพออกจากพื้นที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิซัดถล่มเมื่อปี 2011 นับแต่นั้นเป็นต้นมา โกะโนอิก็ใฝ่ฝันที่จะได้เข้าเป็นสมาชิกของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น
หลังจากนั้นเธอได้เข้าเป็นเจ้าหน้าที่ของกองกำลังป้องกันตนเองสมดังใจหวัง แต่ความฝันในวัยเด็กนี้ต้องมาพังทลายลง เมื่อเธอพบกับการละเมิดลวนลามทางเพศ "ทุกวัน"
โกะโนอิลาออกในปี 2022 และเริ่มรณรงค์เรียกร้องในที่สาธารณะ เพื่อให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เธอถูกกระทำ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากในสังคมชายเป็นใหญ่ เพราะจะมีการตอบโต้อย่างรุนแรง หากผู้ที่ผ่านการถูกล่วงละเมิดทางเพศมาแล้ว ออกมาฟ้องสังคมถึงเรื่องราวของตน
กรณีของเธอกดดันให้กองกำลังป้องกันตนเองต้องดำเนินการสืบสวนภายใน ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่ผู้เสียหายอีกกว่า 100 ราย ออกมาร้องเรียนเพิ่มเติม ต่อมากระทรวงการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นจึงออกแถลงการณ์ขออภัยต่อโกะโนอิ
โซเฟีย โคซาเชวา, รัสเซีย
นักผจญเพลิง
แม้ก่อนหน้านี้เธอจะเป็นครูสอนการร้องโอเปรา แต่โซเฟีย โคซาเชวา ได้พบกับเส้นทางสายใหม่ในชีวิต หลังได้รู้จักกับเหล่านักผจญเพลิงกลุ่มหนึ่ง ในปี 2010
หลังได้มาเป็นนักผจญเพลิงด้วยตนเอง โคซาเชวาได้ก่อตั้งชุมชนเพื่อการฝึกฝนอบรมอาสาสมัครดับไฟป่าของรัสเซีย จุดเริ่มต้นนี้นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครกว่า 25 กลุ่มทั่วประเทศ
เธอช่วยดับไฟป่าหลายร้อยครั้งทั่วรัสเซีย ทั้งยังร่วมมือกับองค์กรอย่างกรีนพีซ ในช่วงก่อนที่องค์กรเอกชนแห่งนี้จะถูกทางการรัสเซียตีตราว่าเป็น "องค์กรไม่พึงประสงค์" จนสำนักงานสาขารัสเซียต้องถูกปิดลง
โคซาเชวายังได้สร้างเว็บไซต์สำหรับอาสาสมัครดับไฟป่าขึ้นมา โดยเป็นฐานข้อมูลออนไลน์ที่สมบูรณ์ที่สุดในภาษารัสเซีย ซึ่งให้ข้อมูลข่าวสารว่าด้วยการป้องกันและควบคุมไฟป่า
ไม่ว่าวิกฤตด้านภูมิอากาศจะใหญ่หลวงเพียงใด แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทุกครั้งเริ่มต้นจากความสำเร็จเล็ก ๆ แม้จะดูเหมือนว่าเราตัวกระจ้อยร่อยเกินไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงระดับโลก แต่เราก็จะต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวที่สามารถทำได้เสียก่อน
โซเฟีย โคซาเชวา
ซุมเมีย โตรา, อัฟกานิสถาน
นักรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ลี้ภัย
"เครือข่ายดอสติ" คือองค์กรที่อุทิศตนเพื่อมอบความช่วยเหลือด้านข้อมูลและทรัพยากรที่จำเป็นแก่ชาวอัฟกานิสถาน ทั้งที่ยังอยู่ในประเทศและที่อพยพลี้ภัยไปแล้ว โดยองค์กรนี้จัดตั้งขึ้นหลังกลุ่มตาลีบันกลับมาครองอำนาจในปี 2021
ในฐานะที่เธอเองก็เป็นผู้ลี้ภัยเช่นกัน ซุมเมีย โตรา จึงเข้าใจถึงความยากลำบากที่บุคคลพลัดถิ่นกำลังประสบอยู่
งานของเธอมุ่งให้ความสำคัญกับการลงหลักปักฐานของผู้ลี้ภัยในถิ่นใหม่ รวมทั้งโอกาสเข้าถึงการศึกษาของบรรดานักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ
. เนื่องจากเธอตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ โตราจึงทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งสหประชาชาติ, ธนาคารโลก, กองทุนมาลาลา, และชมิดต์ฟิวเจอร์ส เพื่อรณรงค์เรื่องโอกาสเข้าถึงการศึกษาของผู้ลี้ภัยและสตรี รวมทั้งเด็กหญิงที่ประสบปัญหาฉุกเฉินด้วย
นาจลา โมฮาเหม็ด-ลามิน, ซาฮาราตะวันตก
นักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีและภูมิอากาศ
ผู้ก่อตั้งศูนย์หนังสืออัลมาซาร์ (Almasar Library Centre) นาจลา โมฮาเหม็ด-ลามิน ต้องการให้การศึกษากับผู้หญิงและเด็กในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในแคมป์ผู้อพยพซาฮาราวี ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของแอลจีเรีย
ครอบครัวของเธอมาจากซาฮาราตะวันตก ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของสเปนภายใต้การปกครองของโมร็อคโกมาก่อนตั้งแต่ปี 1975 ต่อมาครอบครัวของเธอต้องลี้ภัยเนื่องจากต้องหนีความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าว
เธอเกิดและเติบโตในแคมป์ผู้ลี้ภัย โมฮาเหม็ด-ลามิน ได้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่วัยรุ่น และเป็นล่ามให้กับผู้แทนต่างชาติที่ทำงานในแคมป์ผู้อพยพ เธอได้ไปเรียนในต่างประเทศในที่สุดด้วยการระดมเงินทุนจากมวลชน (crowdfund) เพื่อจ่ายค่าเทอม
หลังจากเรียนจบในสาขาการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสตรีศึกษา เธอเดินทางกลับมาที่แคมป์เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวซาฮาวารีกว่า 200,000 คน ให้รับมือกับปัญหาความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ซึ่งสถานการณ์แย่ลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เราต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นในภูมิภาคที่เป็นทะเลทราย ซึ่งทำให้ที่อยู่อาศัยของเราถูกทำลายโดยน้ำท่วมและพายุทรายบ่อยขึ้น ผู้คนของเราต้องทุกข์ทรมานจากอุณหภูมิที่ร้อนสุดขั้วด้วย เราต้องรับผลกระทบทั้งหมดนี้ ทั้งที่ผู้คนของเราแทบไม่มีส่วนกับการทำให้เกิดวิกกฤติด้านภูมิอากาศนี้เลย
นาจลา โมฮาเหม็ด-ลามิน
มิเชล โอบามา, สหรัฐ
อัยการ นักประพันธุ์ และนักเคลื่อนไหว
มิเชล โอบามา เป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐฯ และผู้ก่อตั้งองค์กร "เกิร์ล ออพพอทูนิตี อัลไลแอนซ์" (Girl Opportunity Alliance) ซึ่งสนับสนุนองค์กรภาคพลเรือนชนชั้นรากหญ้าทั่วโลก ให้ขับเคลื่อนการช่วยให้เด็กผู้หญิงทุกคนได้รับการศึกษาที่พวกเธอควรได้รับ
องค์กรนี้ ต่อยอดมาจากโครงการริเริ่ม "เล็ต เกิร์ลส์ เลิร์น" (Let Girl Learn) ที่นางโอบามาในสมัยเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ได้ขับเคลื่อนให้รัฐบาลทุกภาคส่วน ช่วยเด็กหญิงวัยรุ่นทั่วโลก ให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอยังผลักดันแนวคิดริเริ่มใหญ่อีกหลายโครงการ อาทิ "เล็ตส์มูฟ!" (Let's Move!) เพื่อช่วยให้พ่อแม่เลี้ยงบุตรให้มีสุขภาพดีขึ้น "จอยน์ฟอร์ชส์" (Join Forces) ที่สนับสนุนให้ข้าราชการทหารและทหารผ่านศึก รวมถึงครอบครัวของพวกเขา และ "รีชไฮเออร์" (Reach Higher) ที่เธอยังมีส่วนร่วมอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพื่อผลักดันให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ สุขภาพ และเทคโนโลยี
ทรัน กัม , เวียดนาม
เจ้าของกิจการก๊าซชีวภาพ
ทรัน กัม เริ่มนำพลังงานที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศเข้ามาใช้ในฟาร์มของตัวเองในปี 2012
เธอเป็นแม่ลูกสองที่เห็นช่องว่างในตลาดและเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ โดยเริ่มต้นที่ฮานอยเป็นที่แรก ก่อนขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีก 3 จังหวัด
โครงการที่ทรันทำ ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ด้วยการนำมูลวัวและหมู ผักตบชวา และขยะอื่น ๆ มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่นับว่าเป็นพลังงานที่ยั่งยืนกว่าก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการประกอบอาหารและใช้ในครัวเรือน
ธุรกิจที่ทรันทำ ได้ดึงการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นและช่วยขับเคลื่อนการสนับสนุนทางการเมืองสำหรับการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
"เราต้องมีชีวิต และต้องมีชีวิตที่ดี ดังนั้น ฉันจึงพยายามแก้ปัญหาและปกป้องบุคคลอันเป็นที่รัก ด้วยการรักษาสุขภาพของเราผ่านการออกกำลังกาย กินอาหารที่สมดุล และมีวิถีการนอนที่ดี ฉันยังส่งเสริมให้คนอื่น ๆ ใช้ชีวิตแบบชีวิตในวิถีออร์แกนิก ปลูกผักผลไม้กินเอง และแนะนำเรื่องการไม่ใช้ยาฆ่าแมลงในผักที่พวกเราปลูก"
ทรัน กัม
สุมินี , อินโดนีเซีย
หัวหน้าเขตรักษาป่าไม้
ในพื้นที่ป่าสงวนที่จังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย เป็นเรื่องที่ไม่ปกติเท่าใดนักเมื่อผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำ
เมื่อสุมินีรู้ว่าสาเหตุหลักของภัยพิบัติน้ำท่วมในหมู่บ้านของเธอคือการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งก็มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยนั้น เธอได้ตัดสินใจลงมือทำบางอย่างและทำงานร่วมกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ในชุมชน
กลุ่มผู้หญิงของสุมินี ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ให้บริหารจัดการที่ดินและป่าไม้ในหมู่บ้านดามารัน บารู ด้วยคนในชุมชนเองเป็นเวลา 35 ปี บนพื้นที่ 251 เฮกตาร์
ปัจจุบันสุมินีเป็นแกนนำหน่วยบริหารจัดการป่าไม้หมู่บ้าน (Village Forest Management Unit-LPHK) ซึ่งมีหน้าที่ในการปราบปรามผู้ลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมาย การลักลอบจับเสือสุมาตรา ตัวลิ่น และสัตว์อื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
"จากปัญหาการลดลงจำนวนลงของพื้นที่ป่าที่รุนแรงและการลักลอบล่าสัตว์ในปัจจุบัน ป่าไม้ควรได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เมื่อเราพูดถึงวิธีที่เราร่วมกันจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะการรักษาป่า เท่ากับการรักษาชีวิต"
สุมินี
เกลดีส์ คาเลมา-ซิกูโซกา , อูกันดา
สัตวแพทย์
เกลดีส์ คาเลมา-ซิกูโซกา คือสัตวแพทย์ชาวอูกันดาและนักอนุรักษ์มือรางวัล เธอทำงานด้านการปกป้องลิงกอริลลาภูเขา ซึ่งกำลังตกอยู่ในอันตราย เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยของลิงเหล่านี้กำลังถูกกัดเซาะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เธอเป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหารองค์กรพัฒนาเอกชนที่ชื่อว่า Conservation Through Public Health ซึ่งส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการทำให้คน กอริลลา และสัตว์ป่าอื่น ๆ อยู่ร่วมกันได้ พร้อม ๆ กับการส่งเสริมพัฒนาสุขภาวะและถิ่นอาศัยควบคู่กัน
หลังจากผ่านไป 3 ทศวรรษ งานของคาเลมา-ซิกูโซกา ช่วยให้สามารถเพิ่มจำนวนกอริลลาในป่าจากเดิมที่มีอยู่ 300 ตัว เป็น 500 ตัว ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ปลดล็อกกอริลลาสายพันธุ์นี้จากกลุ่มสัตว์ที่ตกอยู่ในอันตรายอย่างร้ายแรง ลดระดับไปเป็นกลุ่มที่ตกอยู่ในอันตราย
ในปี 2021 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้มอบรางวัล Champions of the Earth ให้คาเลมา-ซิกูโซกา ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้แก่ผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก
"สิ่งที่ทำให้ฉันมีความหวังกับเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คือ มีการรับรู้เพิ่มมากขึ้นว่ามันเป็นปัญหาที่ต้องเข้าไปจัดการอย่างเร่งด่วน ซึ่งก็มีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยบรรเทาและปรับตัวกับวิกฤตนี้"
เกลดีส์ คาเลมา-ซิกูโซกา
บาสิมา อับดุลราห์มัน , อิรัก
ผู้ประกอบการก่อสร้างอาคารสีเขียว
ในปี 2014 ขณะที่กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (IS) เข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอิรัก บ้านเกิดของบาสิมา อับดุลราห์มัน ขณะนั้นเธอกำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯ
เมืองหลายเมืองของอิรักถูกทำลายเสียหายจากผลของการสู้รบ เมื่ออับดุลราห์มันเดินทางกลับมาที่อิรักหลังจากคว้าปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง เธอเห็นหนทางที่จะเข้าไปช่วยเหลือ
บาสิมา อับดุลราห์มัน ก่อตั้งบริษัท KESK ขึ้นมาหลังจากนั้น ซึ่งถือเป็นบริษัทก่อสร้างแห่งแรกในอิรักที่เน้นการก่อสร้างอาคารสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เธอพบว่า การจะทำให้ตึกอาคารช่วยรักษาสภาพแวดล้อมแวดล้อมมากขึ้น ต้องผสานนำเอาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพอันทันสมัย รวมเข้ากับวิธีการสร้างตึกอาคารแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมของอิรัก
อับดุลราห์มันให้คำมั่นว่า แนวทางการก่อสร้างในยุคสมัยปัจจุบันจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต
"ฉันมักจะเป็นกังวลกับวิกฤตสภาพอากาศอยู่บ่อยครั้ง มันอดไม่ได้ที่คิดเช่นนั้น และแปลกใจว่าจะมีใครคนใดที่สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ช่วยบรรเทาความเสี่ยงเรื่องสภาพภูมิอากาศ"
บาสิมา อับดุลราห์มัน
ลีแอนน์ คัลเลน-อันสเวิร์ธ, สหราชอาณาจักร
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล
Seagrass เป็นที่รู้จักกันในนามโครงการเพื่อการกุศลที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนและจัดหาแหล่งเพาะพันธุ์ปลา รวมถึงสัตว์น้ำบางชนิดที่ถูกคุกคาม
ลีแอนน์ คัลเลน-อันสเวิร์ธ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Project Seagrass ซึ่งถือเป็นโครงการเพื่อการฟื้นฟูหญ้าทะเลที่ดำเนินการอย่างจริงจังแห่งแรกของสหราชอาณาจักร
โครงการนี้ได้พัฒนารูปแบบการปลูกหญ้าทะเลให้สะดวกมากขึ้นด้วยการใช้หุ่นยนต์บังคับจากระยะไกล และยังช่วยสร้างพิมพ์สำหรับประเทศที่สนใจการฟื้นฟูหญ้าทะเลอีกด้วย
จากประสบการณ์การวิจัยทางทะเลมากว่า 20 ปี ในฐานะนักวิทยาศาสตร์สหวิชาการ คัลเลน-อันสเวิร์ธ ได้อุทิศตนเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
การบรรลุเป้าหมายหลายอย่างอาจจะไม่สามารถมาเกิดขึ้นได้ด้วยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่จำเป็นต้องได้จากการทำงานร่วมกันและแบ่งปันองค์ความรู้ ในส่วนงานเล็ก ๆ ของฉัน ฉันรู้ดีว่า เราสามารถคืนชีวิต, ปกป้อง และฟื้นฟูแหล่งที่อยู่ที่สำคัญ (ของสัตว์ใต้ทะเล) ที่เป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้และสังคมของเรา
ลีแอนน์ คัลเลน-อันสเวิร์ธ
ซูซาน ชอมบา, เคนยา
นักวิทยาศาสตร์
แม้ปัจจุบันเธอคือผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) แต่ในวัยเด็กซูซาน ชอมบา เติบโตมาท่ามกลางความยากจนในเขตคิรินยากาทางตอนกลางของเคนยา ซึ่งประสบการณ์นี้เป็นแรงจูงใจให้เธอช่วยปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อื่น
ในตอนแรกเธอมุ่งทำงานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ ฟื้นฟูภูมิทัศน์ และเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตอาหารของแอฟริกา
จากป่าฝนเขตร้อนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคองโก ไปจนถึงภูมิภาคซาเฮลอันแห้งแล้งของแอฟริกาตะวันตก และพื้นที่แถบแอฟริกาตะวันออก ชอมบาใช้เวลาทำงานร่วมกับเหล่าเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะกับผู้หญิงและเยาวชน เพื่อช่วยเพิ่มผลิตผลจากที่ดินทำกินของพวกเขาให้มากที่สุด
ชอมบาแบ่งปันความเชี่ยวชาญของเธอกับบรรดานักวิจัยและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างชุมชนที่สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ
ฉันได้รับความเดือดร้อนมากกว่าจากบรรดาผู้นำระดับโลกที่ไม่ทำอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ พวกเขามีอำนาจทางเศรษฐกิจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็นิ่งเฉยเพราะเรื่องเงิน อำนาจ และการเมือง เพื่อจัดการกับความรู้สึกสับสนเหล่านี้ ฉันฝังตัวเองลงในการทำงานภาคสนาม มุ่งทำงานกับผู้หญิงและเยาวชนทั่วแอฟริกาเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตอาหารของเราและนโยบายของรัฐ
ซูซาน ชอมบา
จานัน ดาเดวิเรน, ตุรกี
นักวิทยาศาสตร์และผู้สร้างนวัตกรรม
เธอคือรองศาสตราจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือ (MIT) ของสหรัฐฯ ล่าสุด จานัน ดาเดวิเรน เพิ่งคิดค้นแผ่นอุปกรณ์อัลตราซาวด์ที่ผู้หญิงสามารถสวมติดตัว เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ
เธอได้รับแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์อุปกรณ์นี้ จากน้าของเธอที่มาด่วนเสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายเมื่อ 6 เดือนก่อน โดยแพทย์ตรวจพบก้อนมะเร็งช้าเกินไป ทำให้น้าของเธอได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกเอาในวัย 49 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งมาตลอด
ขณะที่เฝ้าไข้อยู่ข้างเตียงของน้า ดาเดวิเรนเริ่มวางแผนคร่าว ๆ ถึงการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สามารถสวมใส่ติดไปกับยกทรง เพื่อที่จะสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้บ่อยขึ้นในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ซึ่งคาดว่าอุปกรณ์นี้จะช่วยชีวิตผู้หญิงได้นับล้านคน
อิซาเบลา ดูซิก, โปแลนด์
นักบันทึกเสียง
เธอผู้นี้มักถืออุปกรณ์เทปบันทึกเสียงไว้ในมือ ขณะเดินเข้าไปบันทึกเสียงแปลกประหลาดมากมาย ในป่าเบียโลเวียซาของโปแลนด์ ซึ่งเป็นป่าเก่าแก่และได้รับการอนุรักษ์ไว้ในสภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป
อาชีพนักบันทึกเสียงภาคสนามของอิซาเบลา ดูซิก ทำให้ผู้คนประหลาดใจ ไม่ใช่เพราะเธอคือหญิงสาวที่เลือกทำงานในวงการซึ่งมีแต่ผู้ชาย แต่เป็นเพราะเธอสายตาพิการมาแต่กำเนิด
ดูซิกเริ่มพัฒนาทักษะการฟังที่ไวต่อเสียงร้องของนกเป็นพิเศษ ตั้งแต่พ่อแม่ให้อุปกรณ์เทปบันทึกเสียงกับเธอ ขณะที่มีอายุได้ 12 ปี โดยเธอสามารถจำแนกแยกแยะนกชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ได้ ด้วยการฟังเสียงเท่านั้น
เธอถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้แบ่งปัน "ความสงบ ความงาม และคุณความดีทั้งปวง" ที่เสียงในธรรมชาติได้มอบให้กับมนุษย์ "ไม่ว่าคนเราจะมองเห็นแค่ความแตกต่างขัดแย้งระหว่างกันมากเท่าใดก็ตาม"
ปาหยาง, จีน
นักจดบันทึกประจำวันและนักรณรงค์เพื่อความยั่งยืน
นับตั้งแต่ปี 2018 ปาหยางจดบันทึกข้อมูลด้านระบบนิเวศทุกวัน โดยการเฝ้าติดตามสัตว์ชนิดต่าง ๆ ในท้องถิ่น รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรน้ำ พร้อมกับบันทึกข้อมูลด้านอากาศและพื้นพันธุ์ชนิดต่าง ๆ
เธออาศัยอยู่ในมณทลชิงไห่ของจีน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนที่ราบสูงธิเบตและกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น, ธารน้ำแข็งละลาย และการกลายสภาพเป็นทะเลทราย
ปาหยาง เป็นสมาชิกของเครือข่ายนักสิ่งแวดล้อมสตรีซานเจียงหยวน (Sanjiangyuan Women Environmentialists Network) และนักรณรงค์ด้านสุขภาพและความยั่งยืนในชุมชนของเธอ
เธอมีทักษะโดดเด่นในด้านการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลิปบาล์ม, สบู่ และกระเป๋า นอกจากนี้เธอยังร่วมปกป้องแห่งน้ำในชุมชน และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นให้หันมาร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
เนฮา มานคานี, ปากีสถาน
พยาบาลผดุงครรภ์
เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ปากีสถานเมื่อปี 2022 เนฮา มานคานี พยาบาลผดุงครรภ์ได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อใช้ทักษะที่เธอมี
มานคานีและทีมงานมอบชุดอุปกรณ์ช่วยชีวิตและการผดุงครรภ์ให้แก่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่า 15,000 ครอบครัว ผ่านองค์กรการกุศล Mama Baby Fund
แนวทางปฏิบัติโดยทั่วไปของเธอ มุ่งให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้อย การตอบสนองในภาวะฉุกเฉินต่ำ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ
Mama Baby Fund ระดมเงินได้มากพอที่จะเปิดตัวเรือพยาบาลซึ่งจะขนย้ายสตรีมีครรภ์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนชายฝั่งไปยังโรงพยาบาลและคลินิกใกล้เคียงเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
งานของพยาบาลผดุงครรภ์ในชุมชนที่เผชิญกับภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นสิ่งสำคัญ เราเป็นทั้งผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ ที่ทำให้แน่ใจว่าผู้หญิงจะยังคงได้รับการดูแลเรื่องการเจริญพันธุ์ การตั้งครรภ์ และหลังคลอดบุตรตราบที่พวกเธอต้องการ แม้ว่าสถานการณ์รอบ ๆ ตัวจะแย่เพียงใดก็ตาม
เนฮา มานคานี
วันจิรา มาไท, เคนยา
ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
ในฐานะที่เป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งทวีปแอฟริกา วันจิรา มาไท คร่ำวอดด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในการขับเคลื่อนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
เธอเป็นผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม Green Belt Movement ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำว่าด้วยกลุ่มคนรากหญ้าพื้นเมืองในเคนยา ที่สร้างพลังให้กับกลุ่มสตรีผ่านการปลูกต้นไม้ กลุ่มนี้ได้รับการก่อตั้งโดยวังการี มาไท แม่ของวันจิรา ซึ่งวังการี คือ ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2004
ปัจจุบัน มาไทดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรระหว่างแอฟริกาและนานาชาติของสถาบันทรัพยากรโลก และยังเป็นประธานมูลนิธิวังการี มาไท อีกด้วย
เธอยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากองทุน Bezos Earth Fund ประจำทวีปแอฟริกา และภาคี Clean Cooking Alliance และมูลนิธิสภาพภูมิอากาศแห่งยุโรป
การกระทำต้องมาจาก "ความเป็นท้องถิ่น" เราต้องสนับสนุนความคิดริเริ่มในท้องถิ่น เช่น ผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ และงานขับเคลื่อนโดยชุมชน เพื่อการฟื้้นฟู, การใช้พลังหมุนเวียน และเศรษฐกิจหมุนเวียน แรงพลักดันจากล่างขึ้นบนเช่นนี้จะช่วยให้เรามีความหวังที่สร้างความเป็นไปได้ให้เป็นจริง
วันจิรา มาไท
เอลฮัม ยุสเซเฟียน, สหรัฐฯ และอิหร่าน
ที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศและผู้พิการ
เอลฮัม ยุสเซเฟียน เป็นทนายความสิทธิมนุษยชนและเป็นผู้พิการตาบอด เธอเป็นผู้สนับสนุนอย่างแรงกล้าในการให้ผู้พิการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตอบโต้อย่างทันด่วนกับเหตุการณ์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
ยุสเซเฟียน เกิดและได้รับการเลี้ยงดูมาในอิหร่าน ก่อนอพยพไปอยู่ที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ปัจจุบันเธอมีบทบาทสำคัญในองค์กรพันธมิตรคนพิการนานาชาติ (International Disability Alliance-IDA) ซึ่งเป็นองค์กรของเครือข่ายคนพิการทั่วโลกกว่า 1,100 แห่ง
ภารกิจของยุสเซเฟียน คือ การให้การศึกษาแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายว่าคนพิการมีปัญหาอุปสรรคอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้เธอยังสนับสนุนศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของคนพิการในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
"พวกเรา ซึ่งแต่ละคนเป็นคนพิการ ได้พิสูจน์ด้วยเวลาและความสามารถในการเอาชนะความท้าทายที่ซับซ้อนและพบทางออกของปัญหา แม้ในห้วงยามที่ดูเหมือนว่ามันไม่มีอยู่ คนพิการมีความสามารถที่จะยืนอยู่ในแนวหน้าและควรที่จะทำเช่นนั้นเพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ"
เอลฮัม ยุสเซเฟียน
โอเลนา รอซวาโดฟสกา, ยูเครน
นักรณรงค์เพื่อสิทธิเด็ก
การช่วยเหลือเด็กชาวยูเครน ให้สามารถจัดการเยียวยาบาดแผลทางใจที่เกิดจากสงครามได้ คือภารกิจของโอเลนา รอซวาโดฟสกา เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร "เสียงของเด็ก" (Voices of Children) ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางจิตบำบัดแก่พวกเขา
องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นในฐานะความริเริ่มสำหรับคนรากหญ้าในปี 2019 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี หลังจากที่รอซวาโดฟสกาอาสาไปทำงานในเขตสู้รบใกล้แนวหน้าของสมรภูมิดอนบาส ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังกำลังต่อสู้กับกองทัพยูเครนที่นั่น
ตอนนี้องค์กรของเธอมีนักจิตวิทยามากกว่า 100 คน ซึ่งทำงานในศูนย์บำบัด 14 แห่ง รวมทั้งให้คำปรึกษาฟรีผ่านสายด่วนทางโทรศัพท์ด้วย ทำให้เด็กและผู้ปกครองหลายหมื่นคนได้รับความช่วยเหลือ
รอซวาโดฟสกามีส่วนร่วมในการผลิตภาพยนตร์สารคดี "บ้านที่สร้างด้วยเสี้ยนหนาม" (A House Made of Splinters) ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ทั้งยังร่วมกับองค์กรของเธอจัดพิมพ์หนังสือ "สงครามผ่านเสียงของเด็ก" อีกด้วย
รูเมธา อัล บูไซดี, โอมาน
นักวิทยาศาสตร์
"ผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งหลาย เธอคือส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาโลกร้อน" คือชื่อหัวข้อที่ รูเมธา อัล บูไซดี นักวิทยาศาสตร์ชาวโอมาน ใช้ในการพูด TED Talk ของเธอเมื่อปี 2021 คลิปการพูดของเธอครั้งนี้มีคนดูมากกว่าล้านครั้ง และสะท้อนให้เห็นจุดยืนส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงอาหรับของเธอ
ความเชี่ยวชาญของอัล บูไซดี ทำให้เธอได้ตำแหน่งในสภาเยาวชนอาหรับเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสังคมสิ่งแวดล้อมของโอมาน
เธอยังได้ให้คำปรึกษากับรัฐบาลของนายไบเดนเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศโดยตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยังได้ให้คำปรึกษากับรัฐบาลของกรีนแลนด์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เธอเป็นหญิงชาวโอมานที่อายุน้อยที่สุดที่ไปถึงขั้วโลกใต้ นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ก่อตั้ง WomeX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้หญิงชาวอาหรับพัฒนาทักษะการเจรจาทางธุรกิจ
ทางแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับหนึ่งคือการเสริมพลังให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ผลกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นและกระจายไปสู่ชุมชนของพวกเธอจะเปลี่ยนความรับรู้และการกระทำของผู้เกี่ยวข้อง และปกป้องสถานที่แห่งนี้ที่เราเรียกว่าบ้าน
รูเมธา อัล บูไซดี
อาสตริด ลินเดอร์, สวีเดน
ศาสตราจารย์ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน
เป็นเวลานานหลายทศวรรษ ที่รถยนต์ถูกผลิตขึ้นโดยใช้หุ่นจำลองที่อิงมาจากเพศชายมาตรฐาน ในการทดสอบความปลอดภัยของรถหากเกิดการชน แม้ว่าตัวเลขสถิติจะแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่รถถูกชนจากด้านหน้ามากกว่า
วิศวกรอย่าง แอสตริด ลินเดอร์ พยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ โดยการเป็นผู้นำในโครงการที่จะสร้างหุ่นจำลองที่อิงมาจากเพศหญิงมาตรฐานตัวแรก ที่ใช้สำหรับทดสอบความปลอดภัยรถยนต์เมื่อเฉี่ยวชนขึ้น โดยหุ่นจำลองตัวนี้จะคำนึงถึงกายสัณฐานของร่างกายผู้หญิงด้วย
ในฐานะศาสตราจารย์ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนที่สถาบันวิจัยท้องถนนและการคมนาคมแห่งชาติสวีเดน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยชัลเมอร์ส ลินเดอร์ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชีวกลศาสตร์และการป้องกันการบาดเจ็บบนท้องถนน
อะนามาเรีย ฟอนต์ วิญาโรเอล, เวเนซุเอลา
นักฟิสิกส์อนุภาค
ศาสตราจารย์อะนามาเรีย ฟอนต์ วิญาโรเอล เป็นนักวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาค โดยมุ่งศึกษาทฤษฎีซูเปอร์สตริง ซึ่งต้องการจะอธิบายอนุภาคต่าง ๆ และแรงพื้นฐานในธรรมชาติ ด้วยการจำลองให้พวกมันเป็นพลังงานซึ่งมีลักษณะคล้ายเส้นด้ายขนาดเล็กที่กำลังสั่นไหว
ผลการศึกษาวิจัยของเธอ สร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อการประยุกต์ใช้ทฤษฎีซูเปอร์สตริง เพื่ออธิบายโครงสร้างของสสารและความโน้มถ่วงเชิงควอนตัม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาหลุมดำและชั่วขณะหลังการเกิดบิ๊กแบงหรือกำเนิดเอกภพได้ใหม่ ๆ
ก่อนหน้านี้ ศ.ฟอนต์ วิญาโรเอล เคยได้รับรางวัล Fundación Polar ของเวเนซุเอลา และในปีนี้ยังได้รับเลือกให้ครองรางวัล "สตรีแห่งวงการวิทยาศาสตร์" จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกอีกด้วย
คิวอัน วู, สิงคโปร์
นักเล่าเรื่อง
ในฐานะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ คิวอัน วู ใช้โซเชียลมีเดียแชร์แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
The Weird and the Wild แพลตฟอร์มออนไลน์ของเธอ มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้วิทยาศาสตร์ภูมิอากาศเข้าถึงง่ายขึ้นและลดน่ากลัวลง โดยมุ่งเน้นเนื้อหาเพื่อสนับสนุน ให้ความรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกี่ยวกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เธอเป็นพิธีกรร่วมของ Climate Cheesecake รายการพอดแคสด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นเนื่อหาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแยกแยะหัวข้อเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ซับซ้อนออกเป็นส่วน ๆ แล้วมาบอกเล่า ให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้น
เธอยังเป็นนักสำรวจรุ่นเยาว์ของ National Geographic ด้วย
วิกฤตสภาพภูมิอากาศมีความสลับซับซ้อน หนักหนา และน่ากลัว เราสามารถเคลื่อนเข้าหามันด้วยความอยากรู้อยากเห็นอย่างแรงกล้า ทว่าอ่อนโยน แทนที่จะกลัว นั่นทำให้เรายังรักษาหัวใจอันอ่อนโยนในการดูแลโลกในขณะที่เราก็ลับอาวุธของเราเพื่อตัดสิ่งที่ใช้ไม่ได้ออกและสร้างสิ่งที่ใช้การได้
คิวอัน วู
ซารา อัล-ซัคคา, ดินแดนปาเลสไตน์
แพทย์ผ่าตัดทั่วไป
ดร.ซารา อัล-ซัคคา เป็นแพทย์ผ่าตัดหญิงที่ได้ใบรับรองคนแรกในกาซา เธอทำงานอยู่ในโรงพยาบาลอัล-ชีฟา
เธอได้ใช้อินสตาแกรมส่วนตัวในการบันทึกประสบการณ์การรักษาผู้คนท่ามกลางสงคราม โรงพยาบาลอัล-ชีฟา ได้รับความเสียหายอย่างหนักเมื่ออิสราเอลบุกโจมตีใส่กลุ่มฮามาส
อัล-ซัคคาได้โพสต์เกี่ยวกับการขาดแคลนไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำ และอาหาร ซึ่งทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ เธอต้องหนีออกจากโรงพยาบาลอัล-ชีฟา ไม่นานก่อนที่ทหารอิสราเอลจะบุกโรงพยาบาล
อัล-ซัคคา ศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ที่มหาวิทยาอิสลามแห่งกาซา และศึกษาด้านศัลยกรรมที่มหาวิทยาลัยควีนแมรีในลอนดอน ตอนนี้เธอไม่ได้เป็นศัลยแพทย์หญิงคนเดียวในกาซาแล้ว เนื่องจากมีแพทย์หญิงอีกหลายคนที่เดินตามรอยเท้าเธอ
อามีนา อัล-บิช, ซีเรีย
อาสาสมัครกู้ภัย
เมื่อสงครามกลางเมืองในซีเรียยกระดับรุนแรงขึ้นในปี 2017 อามีนา อัล-บิช ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหนึ่งในอาสาสมัครหญิงคนแรก ๆ ของกองกำลังปกป้องพลเมือง หรือที่รู้จักกันในชื่อ "หมวกนิรภัยสีขาว" (white helmets) โดยหวังจะช่วยชีวิตและให้การปฐมพยาบาลแก่พลเมืองที่บาดเจ็บ
ต่อมาอามีนายังได้เป็นอาสาสมัครกู้ภัย ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวถล่มซีเรียและตุรกีเมื่อเดือนก.พ. ของปีนี้ ซึ่งหายนะภัยดังกล่าวได้ทำลายบ้านเรือนในย่านที่เธออาศัยอยู่ รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวของเธอก็ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังด้วย
ตอนนี้อามีนาทำงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสตรีในชุมชนของเธอ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของซีเรียในพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบกันอยู่ ตอนนี้เธอยังคงศึกษาต่อด้านการบริหารธุรกิจ และหวังว่าจะได้ร่วมสร้างประเทศซีเรียที่มีสันติสุขในสักวันหนึ่ง
เจนิเฟอร์ อูเชนดู, ไนจีเรีย
นักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพจิต
องค์กร SustyVibes ซึ่งนำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง ก่อตั้งขึ้นโดย เจนิเฟอร์ อูเชนดู มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างน่าสนใจ
ผลงานที่ผ่านมาของยูเชนดูมุ่งเน้นไปที่การสำรวจผลกระทบจากวิกฤตด้านภูมิอากาศต่อสุขภาพจิตของชาวแอฟริกัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น
ในปี 2022 เธอได้ก่อตั้งโครงการที่ใช้ชื่อว่า The Eco-Anxiety Africa (TEAP) เพื่อให้ความสำคัญในเรื่องการตรวจสอบและป้องกันผลกระทบทางด้านอารมณ์จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของชาวแอฟริกัน ผ่านการทำวิจัย, การขับเคลื่อนทางสังคม, และการทำจิตบำบัดให้รับทราบเกี่ยวกับภูมิอากาศ
เป้าหมายของเธอคือ การทำงานร่วมกับบุคลากรหรือองค์กรที่สนใจในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และจัดการกับความท้าทายในการเรียนรู้ด้านอารมณ์จากอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศ
ฉันเคยมีประสบการณ์ผ่านหลากหลายอารมณ์เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตด้านภูมิอากาศ ในความเป็นจริง ฉันเองความคุมสติอารมณ์ตัวเองได้ไม่รวดเร็วนัก แต่ฉันก็ต้องทำให้ได้ การแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อผู้อื่นผ่านการกระทำ การให้ที่พักพิงทางใจ สามารถช่วยให้ฉันป้องกันจากความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพภูมิอากาศได้
เจนิเฟอร์ อูเชนดู
แอนนา ฮัตตูเนน, ฟินแลนด์
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีผลกระทบของคาร์บอน
จากความสนใจในเรื่องการเดินทางสัญจรที่ยั่งยืน แอนนา ฮัตตูเนน เป็นผู้รณรงค์ผลักดันการเดินทางที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น สะอาดขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่เมืองลาห์ติ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งโครงการที่เธอทำได้คว้ารางวัลจากยูโรเปียน กรีน แคปปิตอล ในปี 2021
ฮัตตูเนน เป็นแกนนำของโครงการที่บุกเบิกขึ้นมาใหม่ของเมือง ซึ่งให้กำเนิดรูปแบบการค้าคาร์บอนส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชั่น แอปฯ แรกของโลกที่เปิดให้พลเมืองได้รับเครดิตเมื่อใช้การขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นจากการขี่จักรยาน หรือการใช้ขนส่งสาธารณะ
ฮัตตูเนน ยังทำงานเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องความเป็นกลางทางสภาพภูมิกาศ (Climate Neutral) ของเมืองกับองค์กรที่ชื่อว่า เน็ตซีโรซิตีส์ (NetZeroCities) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือเมืองต่าง ๆ ในยุโรปให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ ให้ได้ภายในปี 2030
ฮัตตูเนนตั้งเป้าว่า อยากผลักดันให้คนอื่น ๆ รู้สึกตื่นเต้นกับวิถีการเดินทางที่ยั่งยืนและสนับสนุนการขี่จักรยาน ซึ่งเธอมองว่าเป็นการขนส่งสาธารณะสำหรับเมืองในอนาคต
เทศบาลเมืองทั่วโลกเต็มไปด้วยผู้คนที่น่าอัศจรรย์ ซึ่งทำงานเพื่อให้พลเมืองในเมืองมีชีวิตที่ยั่งยืนขึ้น จงทำในส่วนของคุณ เข้าไปคลุกคลีและเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านนั้น
แอนนา ฮัตตูเนน
ทิมนิต เกบรู, สหรัฐอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์
เธอคือนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ทรงอิทธิพลอย่างสูง ทิมนิต เกบรู คือผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารของ "สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์แบบกระจายการเรียนรู้และแก้ปัญหา" (DAIR) ซึ่งมีขึ้นเพื่อ "เป็นพื้นที่การเรียนรู้อย่างอิสระ และเป็นพื้นที่การวิจัยเอไอเพื่อชุมชน โดยปราศจากการแทรกแซงของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่"
เธอวิพากษ์วิจารณ์อคติทางเชื้อชาติที่พบในเทคโนโลยีจดจำใบหน้า รวมทั้งก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้วงการเอไอมีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับคนผิวดำมากขึ้น
เกบรูเกิดที่เอธิโอเปีย และปัจจุบันเป็นคณะกรรมการขององค์กร AddisCoder ซึ่งสอนการเขียนโปรแกรมให้กับนักเรียนนักศึกษาชาวเอธิโอเปีย
เมื่อปี 2020 ขณะที่เธอยังทำงานเป็นหนึ่งในผู้นำทีมพัฒนาเอไอที่มีจริยธรรมของกูเกิล เกบรูและเพื่อนร่วมงานได้ตีพิมพ์บทความวิชาการ ที่สร้างความตระหนักต่อปัญหาเรื่องต้นแบบทางภาษาของเอไอ ซึ่งแฝงอคติเชิงโครงสร้างต่อชนกลุ่มน้อย ผู้ด้อยโอกาส และสังคมที่กำลังพัฒนา
รายงานดังกล่าว ทำให้เธอต้องออกจากบริษัท ในเวลานั้น ทางบริษัทตอบโต้ว่า รายงานฉบับดังกล่าวเพิกเฉยต่องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และระบุว่า เกบรู ลาออกเอง อย่างไรก็ดี เกบรู ระบุว่าเธอถูกไล่ออก เพราะเปิดโปงอคติต่อชนกลุ่มน้อยในที่ทำงาน
ฟาบิโอลา เตรโฮ, เม็กซิโก
นักจิตวิทยาสังคม
เมื่อเธอเริ่มเส้นทางอาชีพสายวิชาการด้านจิตวิทยาสังคม เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ฟาบิโอลา เตรโฮ พบว่า ไม่มีงานวิจัยในเม็กซิโกเกี่ยวกับเรื่องความสุขทางเพศของผู้หญิง ในฐานะที่เป็นความยุติธรรมทางสังคมรูปแบบหนึ่งเลย
เตรโฮจึงริเริ่มทำงานวิจัยบุกเบิกในประเด็นนี้ โดยตรวจสอบเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม, ความรุนแรงที่มาจากสาเหตุทางเพศ, อำนาจทางการเมืองของความสุขเพลิดเพลินทางเพศ, และยังรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมทางเพศสำหรับผู้หญิงด้วย
เธอพบว่าความไม่เท่าเทียมกันบางประการ ทำให้ผู้หญิงมีความอ่อนแอเปราะบางทางเพศสูงกว่า ดังนั้นเตรโฮจึงใช้งานวิจัยของเธอ รวมทั้งการเข้าร่วมอภิปรายถกเถียง และการจัดฝึกอบรมแบบเวิร์กช็อปที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มาช่วยเหลือผู้คนให้สามารถสำรวจและเข้าถึงความสุขทางเพศของตน ทั้งในแง่ของการช่วยตัวเองและการไปถึงจุดสุดยอด ในแบบที่สามารถก้าวข้ามปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศได้
มีการตอบรับและเผยแพร่ผลงานของเธอเป็นอย่างดี ในแถบลาตินอเมริกาและชุมชนที่ใช้ภาษาสเปนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่การพูดถึงเรื่องสุขภาพและเพศสภาพของสตรีในภูมิภาคเหล่านี้ ยังคงเป็นสิ่งต้องห้าม
มาร์เซลา เฟอร์นันเดซ, โคลอมเบีย
มัคคุเทศก์นำเที่ยว
ธารน้ำแข็งคือแหล่งกำเนิดน้ำจืดที่สำคัญใหักับชุมชนท้องถิ่น แต่ในโคลอมเบีย ธารน้ำแข็งได้เหือดหายไปอย่างรวดเร็ว
มาร์เซลา เฟอร์นันเดซ ผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร Cumbres Blancas (ความหมายว่า ยอดภูเขาสีขาว) และคณะช่วยกันรณรงค์เพื่อกระตุ้นการรับรู้ด้านความสำคัญของธารน้ำแข็ง โดยเน้นความสำคัญต่อธารน้ำแข็ง 14 แห่ง ที่ตอนนี้เหลือเพียง 6 แห่งและตกอยู่ในความเสี่ยง
จากประสบการณ์การเดินทางสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะปีนเขา, ช่างภาพ, นักวิทยาศาสตร์ และศิลปิน เฟอร์นันเดซได้เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาวิธีป้องกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อไม่ให้ธารน้ำแข็งสูญหายไป
นอกจากนี้เธอยังมีโครงการคู่ขนานไปด้วยชื่อว่า "Pazabordo" (มีความหมายว่า ภาคีสันติภาพ) โดยเธอได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงระหว่างความขัดแย้งของกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลโคลอมเบียตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
ธารน้ำแข็งสอนให้ฉันเรียนรู้การรับมือกับความโศกเศร้า จากสิ่งที่หายไป และคุณจะรู้ว่า การสูญเสียธารน้ำแข็งไป คือ ความเสียหายที่เราเรียกคืนกลับมาไม่ได้ แต่เรายังคงช่วยเหลือและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
มาร์เซลา เฟอร์นันเดซ
อิซาเบล ฟาเรียส เมเยอร์, ชิลี
นักรณรงค์เรื่องการหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
เธอผู้นี้ไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่า การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติจะเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างได้ แต่ก่อนที่เธอจะมีอายุ 18 ปีได้ไม่นาน อิซาเบล ฟาเรียส เมเยอร์ ก็ได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะรังไข่ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ก่อนวัยอันควร (POI) ทำให้วัยรุ่นอย่างเธอหมดประจำเดือนเหมือนกับหญิงวัยทอง โรคนี้พบได้ในกลุ่มผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี เพียง 1% เท่านั้น
หญิงสาวที่มีภาวะนี้ มีอาการต่าง ๆ เหมือนกับหญิงวัยทองไม่มีผิด ซึ่งฟาเรียส เมเยอร์ ได้กล่าวอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า มันส่งผลกระทบต่อชีวิตของเธออย่างไรบ้าง ซึ่งก็รวมถึงการเป็นโรคกระดูกพรุนตั้งแต่อายุยังน้อยด้วย
ปัจจุบันเธอมีอายุ 30 ปี เป็นทั้งผู้สื่อข่าวและนักกิจกรรมผู้ก่อตั้งเครือข่ายระดับภูมิภาคแห่งแรก ที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีภาวะ POI ในลาตินอเมริกา โดยมีการแบ่งปันข้อมูล ขจัดความเชื่อผิด ๆ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพจากภาวะนี้
โซเนีย แคสต์เนอร์, สหรัฐอเมริกา
นักพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับไฟป่า
ในปีนี้พบว่ามีเหตุไฟป่าเผาผลาญพืนป่าขนาดใหญ่บางแห่งของโลก บ่อยครั้งที่บรรดานักผจญเพลิงต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมการลุกลามของไฟป่า นั่นจึงเป็นที่มาที่โซเนีย แคสต์เนอร์ ก่อตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อช่วยตรวจจับจุดประกายไฟป่าขึ้นสำหรับเตือนพวกเขาแต่เนิ่น ๆ
Pano AI ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มีความพร้อมในการตอบสนองอย่างรวดเร็วก่อนที่ไฟป่าจะลุกลามไปด้วยการสแกนไปตามภูมิประเทศเพื่อหาสัญญาณของประกายเพลิงและแจ้งเตือนไปยังจุดรับข้อมูล แทนที่การพึ่งพาระบบการแจ้งเตือนสาธารณะผ่านการโทรศัพท์ไปยังหน่วยฉุกเฉิน
แคสเนอร์มีประสบการณ์การทำงานในธุรกิจสตาร์ต-อัพมามากกว่า 10 ปี
สิ่งที่มอบความหวังให้กับฉันคือ พลังที่น่าทึ่งจากนวัตกรรมของมนุษย์ ฉันเองได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีและวิธีการแก้ปัญหาที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้ข้อมูล เพื่อช่วยสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงของวิกฤตด้านภูมิอากาศ
โซเนีย แคสต์เนอร์
คลอเดีย โกลดิน, สหรัฐอเมริกา
นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล
เธอคือนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและนักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงานชาวอเมริกัน คลอเดีย โกลดิน พิชิตรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ จากการศึกษาเรื่องการจ้างงานสตรีและสาเหตุของความไม่เท่าเทียมระหว่างค่าแรงของชายและหญิง
เธอเป็นผู้หญิงคนที่สามที่ได้รับรางวัลนี้ และเป็นคนแรกที่ได้ครองรางวัลแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ต้องมีนักวิชาการชายคนอื่น ๆ ร่วมรับรางวัลด้วย
โกลดินยังมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ "เฮนรี ลี" ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ หัวข้อการวิจัยของเธอรวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ การศึกษา และการโยกย้ายถิ่นฐาน
งานวิจัยซึ่งทรงอิทธิพลที่สุดของเธอบางชิ้น ว่าด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อการงานอาชีพและครอบครัว รวมทั้งผลกระทบของยาคุมกำเนิดต่อการตัดสินใจเรื่องงานและชีวิตสมรสของสตรี
นาตาลี ไซลา, มอลตา
แพทย์หญิง
มอลตามีกฎเกณฑ์ควบคุมการทำแท้งซึ่งเคร่งครัดที่สุดในยุโรป แต่พญ.นาตาลี ไซลา เข้ามาช่วยเหลือโดยให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้หญิงที่ต้องการทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้
เธอร่วมก่อตั้งองค์กร "แพทย์เพื่อทางเลือกแห่งมอลตา" (Doctors for Choice Malta) รวมทั้งรณรงค์เพื่อยกเลิกความผิดอาญาและอนุญาตให้การทำแท้งเป็นสิ่งถูกกฎหมาย เธอยังต่อสู้เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
พญ.ไซลายังบอกว่า กฎหมายที่ห้ามการทำแท้งอย่างสิ้นเชิงแทบจะในทุกกรณี เว้นแต่การตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของแม่เท่านั้น ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องแอบกินยาขับเลือดโดยไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ เธอจึงจัดบริการสายด่วนทางโทรศัพท์ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงทั่วไป ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการทำแท้งด้วยตนเอง
พญ.ไซลายังเขียนและตีพิมพ์หนังสือเพศศึกษาสำหรับเยาวชนอายุ 10-13 ปี ชื่อว่า "การเดินทางแสนมหัศจรรย์ของร่างกายฉัน" เพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้เรื่องสุขภาวะของการเจริญพันธุ์แก่เด็กและวัยรุ่นในมอลตา
100 Women คืออะไร ?
บีบีซี 100 วีเมน รวบรวมรายชื่อสตรีผู้ทรงอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจจำนวน 100 คนจากทั่วโลกในทุกปี เรานำข้อมูลที่รวบรวมได้มาสร้างเป็นสารคดี รายการพิเศษ และบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตของพวกเธอ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง โดยเผยแพร่และออกอากาศในสื่อทุกช่องทางของบีบีซี
ติดตามบีบีซี 100 วีเมน ได้ทางอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก คุณยังสามารถเข้าร่วมการสนทนาทางออนไลน์ได้ โดยใช้แฮชแท็ก #BBC100Women
เรามีวิธีคัดเลือกผู้หญิงทั้ง 100 คนอย่างไร?
ทีมงานบีบีซี 100 วีเมน ร่างรายชื่อจากการสำรวจรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง และจากการเสนอชื่อของแผนกภาษาต่างประเทศในเครือข่าย รวมทั้งจากองค์กร BBC Media Action
เราพยายามเฟ้นหาสตรีที่มีชื่อปรากฏในข่าวเด่น หรือผู้หญิงที่มีอิทธิพลต่อข่าวสำคัญในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงสตรีผู้มีเรื่องราวชีวิตที่เป็นแรงบันดาลใจ ประสบความสำเร็จอย่างสูง หรือมีอิทธิพลในทางใดทางหนึ่งต่อสังคมโดยไม่จำเป็นจะต้องตกเป็นข่าวมาก่อนก็ได้
รายชื่อที่รวบรวมได้ขั้นต้นจะถูกนำมาประเมินอีกครั้งว่า สอดคล้องกับหัวข้อที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยในปีนี้เนื้อหาจะเน้นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบอันใหญ่หลวงที่มีต่อสตรีและเด็กหญิงทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่การคัดเลือกสตรีผู้บุกเบิกริเริ่มโครงการด้านภูมิอากาศ และผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมหญิง 28 คน
เรานำเสนอเสียงที่หลากหลายจากทุกจุดยืนทางการเมืองและจากทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งสำรวจหัวข้อต่าง ๆ ที่มักมีความคิดเห็นแบ่งแยกออกเป็นหลายฝ่าย เรายังเลือกเสนอชื่อสตรีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง
โดยพิจารณาอย่างเป็นกลาง และกระจายให้แต่ละภูมิภาคมีตัวแทนของตนที่ได้รับคัดเลือกในสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะจัดทำรายชื่อในรอบสุดท้ายต่อไป
เครดิต
ทีมผู้ผลิตงาน ผู้หญิง 100 คนแห่งปีของบีบีซี Valeria Perasso, Amelia Butterly, Rebecca Thorn, Paula Adamo Idoeta, Cordelia Hemming, Laura García, Sarah Dias, Lucy Gilder, Mai Kanaaneh, Mark Shea, Vandana Vijay, Kindah Shair, Haya Al Badarneh, Daria Taradai, Lamees Altalebi, Firouzeh Akbarian, Sana Safi, Kateryna Khinkulova, Tamara Gil, Mouna Ba and Chris Clayton.
บรรณาธิการ ผู้หญิง 100 คนของบีบีซี Golnoosh Golshani.
ผลิตเพื่อ World Service Languages Roberto Belo-Rovella and Carla Rosch.
ออกแบบ Prina Shah, Jenny Law, Matt Thomas, Pauline Wilson and Oli Powell.
พัฒนา Scott Jarvis, Arun Bhari, Alexander Ivanov, Preeti Vaghela and Holly Frampton.
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย Miller Mobley, Maciek Tomiczek/Oxford Atelier, Arati Kumar-Rao, Hamna Haqqi, Craig Kolesky, Pano AI, L. Reid, Benjamin Jones, Yober Arias, Amanda Triplett, Anny Roberts, Diyor Abdughaforzoda, Doi Inthanon Thailand by UTMB, Qinghai Snowland Greatrivers Environmental Protection Association, Jason Boberg, Chaideer Mahyuddin/AFP, New Balance Paraguay, Jo Anne McArthur, The Cartier Women's Initiative (CWI), Lucy Piper, Louise Mabulo, Christian Tasso, Martin Chang, Konstantin Deryagin, Gabriel Quintão, Abel Canizales, Patrick Wally, Sarah Hale, Jimena Mateot, Lucas Christiansen, Hana Walker-Brown, Woody Morris, Xinyan Yu, Chris Parker Edzordzi Sefogaht, Taseer Beyg, Albert Kamanga Zeeya Creations, Salem Solomon, Luke Nugent, R. David Marks, Lee Tinklim, Satu/VTI, FIFA, Josh Finche, Kibuuka Mukisa, Phoebe Xu, Gregory Vepryk, Darko Tomas CROPIX, Wanjira Mathai, Rufat Ergeshov, Osvaldo Fanton, Dani Pujalte, Giuliano Salvatore, Fondation L'Oreal, Daniel Eduardo, Tatyana Egorova, Dovana Films, Jimmy Day/MIT, Editorial Caminho - Leya, Khine Hnin Wai Foundation, Andrew Sikorsky, Ramón Tolosa Calderón, Mariam Siddiqi, Feral Films, Sebastián Aliaga, Diyor Abdughaforzoda, The White Helmets/Syria Civil Defence, Ellie Varley, DGL Nunnery, Mustafa Abumenes, Emanuele Elo Usai, Fazal Raham Arman, Emilia Trejo, Mattia Zoppellaro, Martin Lupton/Light Collective, Yasmina Benslimane, Pavlo Botanov, Marijeta Mojasevic, LenadraPella/International Federation of Sport Climbing, Gal Mosenson, Getty Images.
และคำแนะนำในการจัดซื้อทางกายภาพ 450 หัวข้อหัวข้อโครงสร้างทางเศรษฐศาสตร์เครื่องมือภาษาเป็นเจ้าของความช่วยเหลือของเราความเป็นจริงที่เป็นสากลของอินเดียการอนุญาตดูเหมือนเป็นการซื้อโดยไม่มีการวิเคราะห์ Ushki ดูเหมือนว่าจะแบ่งปันการตีความคำแนะนำการระบุปัจจุบันแปล Amitkumar Sunat สามารถเลือกคำสั่งของมนุษย์
การทำให้เป็นโมฆะเกือบเสร็จ แต่สามารถให้ข้อมูลผู้ใช้ได้ แต่บทสนทนาที่สมบูรณ์ไม่สามารถทำให้พังทลายได้ แต่คำแนะนำสามารถปรับปรุงได้ข้อแรกคือการรักษาโลกในฐานะสังคมภาษาเป็นภาษาของสังคม